วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

อภิปรัชญาแห่งตันตระนิกาย: จักรวาลที่อยู่ในตัวเรา ตอนที่ 2


 โดย  ศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้เขียนบทความ

พุทธตันตระกับแนวคิดเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต่อต้าน

            ตามแนวความคิดของพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ความสุขทางกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) นั้นเป็นเรื่องของโลกียชน การยึดถือสิ่งต่างๆในโลกคือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น การยึดติดในกิเลสทั้งปวงนั้นนับเป็นการติดอยู่ในบ่วงแห่งสังสารวัฏ

          แต่แนวคิดของตันตรยานนั้นมีความคิดที่แตกต่างออกไป คือเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน สามารถเป็นหนทางนำไปสู่ความรู้แจ้งหรือความหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน ตามการอธิบายของสุมาลี มหณรงค์ชัย[1] นั้นชี้ว่าการที่พุทธตันตระมีความเชื่อเช่นนี้ได้เพราะพุทธตันตระนั้นถือว่าการรู้แจ้งธรรมนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการปลดปล่อยพลังงานทางจิตใจทั้งทางบวกและลบ (ในกรณีนี้เพศสัมพันธ์นั้นเป็นกระบวนการด้านลบที่สามารถปลดปล่อยพลกำลังมหาศาลที่ถูกกักเก็บไว้ในเบื้องลึก) จากความเชื่อนี้ทำให้พุทธตันตระมีการสร้างพิธีกรรมบางอย่างเพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานด้านลบเหล่านี้ เช่น การกินเนื้อสัตว์  การดื่มน้ำเมา การมีเพศสัมพันธ์ (พิธีกรรมเหล่านี้คล้ายกับการสะท้อนสิ่งที่เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมสมัยที่มนุษย์ยังคงอยู่ในอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ในชุมชนป่าดงดิบออกมา)  ซึ่งพิธีกรรมแบบตันตระนั้นก้าวไกลไปถึงขั้นที่ว่า พิธีกรรมหรือการกระทำที่เป็นการปลดปล่อยพลังด้านลบดังกล่าวนั้นจะช่วยให้ ระเบิดอวิชชา ออกไปได้อย่างเต็มที่ ในกรณีนี้สุมาลี มหณรงค์ชัยได้กล่าวแย้งไว้ด้วยว่าวิธีการของตันตระนี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งประหลาดและนำไปสู่ความผิดพลาดและมัวเมาได้ง่าย

          แนวคิดของพุทธตันตระนั้นอธิบายเรื่องเพศสัมพันธ์ไว้ในลักษณะที่ว่า เมื่อเรื่องของเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องของบุคคลสองคน เป็นเรื่องของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ฯลฯ เพราะเหตุนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจึงมีลักษณะที่เป็นคู่ทั้งสิ้น ทั้งรูปและนาม ภาวะด้านคู่นั้นพุทธตันตระเรียกว่าเป็นทวิภาวะ และผู้ปฏิบัติ (ทั้งที่ทำตามแนวทางของพุทธตันตระหรือไม่ก็ตาม) จะต้องหลอมรวมทวิภาวะทั้งหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน (เช่น สังสารวัฏกับนิพพาน  ขาวกับดำ ดีกับเลว ชายกับหญิง วิชชากับอวิชชา หรือแม้แต่ปัญญากับกรุณา) เพราะการหลอมรวมทวิภาวะจะทำให้ทุกคนพ้นออกจากกรอบของสิ่งต่างๆ การไม่อยู่ในกรอบหรือไม่ติดกรอบของโลกนั้นจะทำให้สามารถบรรลุภาวะความหลุดพ้นไปได้

          พุทธตันตระนั้นไม่เพียงแต่ประกาศหลักการนี้โดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังได้บรรจุหลักการพวกนี้ไว้ในคัมภีร์อนุตตรโยคะด้วย (คือในมหาโยคะตันตระกับโยคินีตันตระ) มหาโยคะตันตระนั้นเองที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้พิธีกรรมการร่วมเพศเป็นเครื่องมือนำไปสู่การรู้แจ้ง (ดังปรากฏว่ามีรูปของพระชินพุทธะอยู่ในท่าทางกอดรัดหรือแม้แต่มีเพศสัมพันธ์กับศักติของท่านมากมายหลากหลายรูปแบบ) การแสดงรูปสัญลักษณ์ออกมาในลักษณะเช่นนี้เองที่เป็นสิ่งอันตรายและนำมาซึ่งการถูกโจมตีจากพุทธศาสนิกชนนิกายต่างๆแม้ในมหายานส่วนใหญ่เองก็ไม่เห็นด้วย

          พวกพุทธตันตระอธิบายท่าทางต่างๆแบบเอาสีข้างเข้าถูว่าเป็นการสะท้อนถึงแนวคิดการประสานกันของภาวะที่เป็นหญิงกับชายที่ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การประสานกันของกรุณาของพระชินพุทธะกับปัญญาของศักติ (ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อก่อน) การถ่ายเทภาวะของจิตที่ไม่บริสุทธิ์ไปสู่ความบริสุทธิ์

          ยิ่งในโยคินีตันตระแล้วยิ่งปรากฏชัดว่าพุทธตันตระนั้นมีแนวคิดที่แปลกแยกออกไปจากความเป็นพุทธมากขึ้นไปอีกคือ นอกจากมีการแสดงรูปสัญลักษณ์ของเทพและพุทธะองค์ต่างๆในรูปแบบของบุคลาธิษฐานไว้อย่างหลากหลายแล้ว ยังแสดงภาพของพุทธะในภาคต่างๆมากมาย เช่น พระชินพุทธะในภาคดุร้าย พระอักโษภยะพุทธะในภาคแสดงอารมณ์ต่างๆโดยได้นำภาคการแสดงอารมณ์เหล่านั้นมาร่วมเป็นเครื่องมือในการให้เหตุผลด้านการ ระเบิดอวิชชา ด้วย

          กล่าวถึงประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ของพวกพุทธตันตระนั้น จะพบว่าพวกพุทธตันตระหรือตันตรนิกายพยายามสอดแทรกเหตุผลของตนว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นการเปิดจิตของตนให้บริสุทธิ์เพื่อรอการประทับของพุทธจิต การมีเพศสัมพันธ์คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ในมณฑล จุดหมายที่แท้ของการมีเพศสัมพันธ์คือการพบเห็นความว่างที่แท้จริง เป็นการทำลายสมมติบัญญัติทุกอย่างและนำไปสู่การเข้าใจเรื่องของความว่างและเรื่องตถตา  ความคิดความเชื่อเหล่านี้ของตันตรยานนั้นชวนให้เกิดการโต้แย้งอย่างกว้างขวางในสังคมชาวพุทธดังได้กล่าวมาแต่ต้น  
ความแตกต่างระหว่างจักรวาลในนิกายพุทธตันตระและพุทธศาสนาเถรวาท

            ดังที่กล่าวมาแล้วว่าแนวคิดเรื่องจักรวาลในพุทธตันตระนั้นค่อนข้างมีความแตกต่างกับจักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทอยู่พอสมควร  โดยสรุปแล้วแม้ว่าพุทธตันตระจะไม่ปฏิเสธเรื่องจักรวาลในแบบเถรวาทแต่ก็ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องจักรวาลในตนไว้ค่อนข้างชัดโดยเรียก จักรวาลที่อยู่ในตนว่าเป็น ทฤษฎีกาลจักร ซึ่งมีความสอดรับกับแนวคิดแบบธรรมชาตินิยมในจีนมากพอสมควร ทำให้คล้ายกับว่าทั้งสองแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกันอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ควรอธิบายถึงด้วย

          จักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นไม่เหมือนกับเรื่องจักรวาลในตนของพุทธตันตระในหลายเรื่องกล่าวคือ จักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทหมายถึงที่ตั้งของภพภูมิต่างๆที่มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง หมายถึงชีวิตที่แตกต่างกันของสรรพสัตว์ในภพภูมิต่างๆในจักรวาลอันรวมเรียกทุกสิ่งเหล่านี้ว่า โอกาสโลก จักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องได้และมีที่ตั้งอันแน่นอน แต่จักรวาลหรือกาลจักรของพุทธตันตระนั้นเป็นเรื่องของนามธรรมล้วนๆ ทั้งนี้เอกสารที่กล่าวเกี่ยวกับจักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีอยู่มากมาย อาทิ ในอรุณวดีสูตร อัคคัญญสูตร พรหมชาลสูตร หรือแม้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามมีการกล่าวถึงเรื่องโลกภายในอยู่ในพุทธศาสนาเถรวาทด้วย แต่ก็ยังแตกต่างกับทฤษฎีกาลจักรของพุทธตันตระอยู่นั่นเอง กล่าวคือ โลกภายในของพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีความหมายว่าเป็นสภาวะที่ภายนอกและภายในกระทบกัน (ผัสสะและสฬายตนะ) คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส ผิวรับสัมผัส ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีผลทำให้ใจมีการปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆอันก่อให้เกิดการยึดมั่นหรือไม่ยึดมั่นในอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้นๆได้[1] การให้ความหมายในลักษณะนี้นำมาสู่การศึกษาเรื่องของการรู้จักละวางอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบกันของอายตนะ แต่การให้ความหมายแบบทฤษฎีกาลจักรในพุทธตันตระนั้นเพียงนำไปสู่การรู้จักให้ความสำคัญของสิ่งต่างๆอย่างเสมอภาคกันเท่านั้น
http://www.vcharkarn.com/vblog/114518/8 บทความคัดลอก


0 ความคิดเห็น:

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More