เขียนโดย ศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล
ความนำ: จักรวาลนอกตัวกับจักรวาลในตัว
เมื่อกล่าวถึงจักรวาล พุทธศาสนิกชนเถรวาทมักมีภาพเกี่ยวกับจักรวาลในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากชาวพุทธมหายานโดยเฉพาะตันตระนิกายมากพอควร กล่าวคือจักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทจะมีความหมายถึงที่ตั้งของภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ มีส่วนประกอบของอากาศ ลม พื้นน้ำแข็ง และพื้นดิน มีภูเขาจักรวาล (หรือภูเขาสิเนรุ) มีโลกธาตุและทวีปน้อยใหญ่ต่างๆตั้งอยู่ เป็นต้น และที่สำคัญคือจักรวาลของพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีการแยกออกจากตัวมนุษย์อย่างชัดเจน
แต่สำหรับพุทธตันตระในนิกายมหายานแล้วกล่าวได้ว่ามีแนวคิดเรื่องจักรวาลที่แตกต่างออกไป ในทางหนึ่งพุทธตันตระยอมรับว่าจักรวาลนั้นมีอยู่มากมาย โดยที่มีมนุษยโลกเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของจักรวาล และจักรวาลมีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่รากฐานของจักรวาลประกอบไปด้วยส่วนผสมต่างๆ ได้แก่อากาศ น้ำหรือธาตุน้ำ ทองคำหรือแร่ธาตุมีค่า ดินหรือธาตุดิน โดยมีภูเขาสิเนรุเป็นแกนกลางของจักรวาล ฯลฯ แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือ การมีแนวคิดที่ว่านอกจากจักรวาลจะมีมิติเดียวกันกับที่พุทธเถรวาทเชื่อถือตามที่กล่าวมานี้แล้วจักรวาลยัง “มีอยู่ในตัวมนุษย์” ด้วย จักรวาลในตัวมนุษย์นั้นเป็นไฉน จักรวาลในตัวมนุษย์คือกระแสชีวิตที่ดำเนินอยู่ในตัวมนุษย์ การดำเนินไปขององค์ประกอบต่างๆที่ผสานกัน จากแนวคิดนี้นิกายพุทธตันตระได้นำเอาเรื่องกระบวนการของจักรวาลกับเรื่องของชีวิตเข้ามาผสมผสานกัน โดยเรียกทฤษฎีนี้ว่า “ทฤษฎีกาลจักร” โดยประสานแนวคิดที่ว่ากระแสชีวิตภายในตัวมนุษย์กับสิ่งภายนอกนั้นต้องดำเนินไปด้วยกันในทำนองเดียวกับที่พุทธศาสนามหายานส่วนใหญ่ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั้นเอง อย่างไรก็ตามพุทธตันตระมิได้หยุดไว้เพียงเท่านี้หากแต่ได้ขยายแนวคิดนี้ไปถึงเรื่องกิจกรรมทางเพศระหว่างชาย-หญิงด้วย โดยจัดให้กิจกรรมทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ทำให้จักรวาลเคลื่อนไหวหรือดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พุทธตันตระเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเช่นเดียวกับปรากฏการณ์อื่นๆที่มีส่วนทำให้จักรวาลเคลื่อนไหวซึ่งดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น (คล้ายกับการมองว่าเพศสัมพันธ์คือกลจักรอันหนึ่งของโลกและจักรวาล) ซึ่งทฤษฎีกาลจักรนี้เองที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “จักรวาลที่อยู่ในตัวเรา” ดังจะได้อธิบายต่อไป
พุทธตันตระหรือพุทธตันตรยาน (Tantric Buddhism) นั้นกล่าวกันว่าเริ่มต้นมาจากขบวนการเคลื่อนไหวของชาวพุทธที่เน้นคำสอนของทางมหายานเป็นหลัก การเคลื่อนไหวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่สาม ความหมายของตันตระในช่วงต้นนั้นหมายถึงปัญญาที่แผ่ไปเพื่อการป้องกันอันตราย และความหมายนี้ได้กลายเป็นความหมายที่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวพุทธและชาวฮินดู อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นแกนสำคัญของพุทธตันตระนั้นอยู่ที่พิธีกรรมและการเพ่งสมาธิโดยมีพระชินพุทธะ พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าที่อยู่ในปริมณฑลของพุทธะเป็นนิมิต ดังนั้นพุทธตันตระจึงเชื่อว่าทางของตนเป็นทางที่สำคัญที่สามารถช่วยให้ผู้นับถือนั้นรอดพ้นจากอันตรายได้ และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้บรรลุความเป็นพุทธะได้เช่นเดียวกัน
การเพ่งสมาธิของพุทธตันตระนั้นมีชื่อเรียกว่า “การเพ่งมณฑล” หมายถึงการเชื่อมตัวตนของผู้เพ่งนั้นเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธะ (คือพระปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า) หลังจากการเพ่งและจิตสงบแล้วผู้เพ่งจะเห็นว่าร่างกายของตนนั้นกลายเป็นร่างกายของเทพศักดิ์สิทธิ์ (เนื่องจากได้รับได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากแสงแห่งพุทธะ) จนที่สุดแล้วกลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระชินพุทธะโดยไม่เหลือภาวะอื่น เช่นการรู้สึกว่ามีตัวตนของตนอยู่อีก เป็นเอกภาวะเดียวกับพระชินพุทธะไปทั้งสิ้น
นอกจากเรื่องวิธีการปฏิบัติแล้ว พุทธตันตระยังมีการนิพนธ์คัมภีร์ไว้ด้วย ดังปรากฏอยู่ ๔ คัมภีร์คือ
๑) คัมภีร์กริยาตันตระ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าธารณี เป็นคัมภีร์ที่บอกกล่าวเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตทางโลก วิธีการทำตนให้มีสุขภาพแข็งแรง ทำตนให้ปลอดภัยปราศจากศัตรู เรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการหยั่งรู้ดินฟ้าอากาศ ในที่นี้ผู้นับถือนิกายพุทธตันตระเมื่อได้ท่องบ่นหรือสวดมนต์นี้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดพลังอำนาจและนำไปสู่ความปลอดภัยในชีวิตได้
๒) คัมภีร์จริยาตันตระ ประกอบด้วยคัมภีร์จำนวน ๘ เล่ม และเล่มที่สำคัญที่สุดคือ มหาไวโรจนสูตร สาระสำคัญของคัมภีร์ชุดนี้ได้แก่เรื่องของโลกุตรธรรม (ธรรมที่เกี่ยวกับการหลุดพ้น) เรื่องการเพ่งมณฑลเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งที่ควรประพฤติในทางโลกด้วย
๓) คัมภีร์โยคตันตระ เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึง “การรวมเข้าด้วยกัน” ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับจรยาตันตระ คัมภีร์โยคตันตระนี้เน้นแนวความคิดเรื่องมณฑลแห่งวัชรธาตุ (หรือกงล้อแห่งพระพุทธเจ้าห้าพระองค์) ในคัมภีร์มีการจัดกลุ่มพระชินพุทธะตามทิศที่เป็นที่สถิตของพระชินพุทธะ รวมทั้งมีการเก็บรวบรวมสี พระลักษณะ ท่าทาง ธาตุและพระปัญญาญาณของพระชินพุทธะไว้ด้วย
๔) คัมภีร์อนุตตรโยคะ เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับการรวมเป็นหนึ่งเดียว แกนความคิดหลักของคัมภีร์นี้คือความเชื่อเรื่องการหลอมรวมเป็นหนึ่ง การหลอมรวมเป็นหนึ่งนั้นมีความหมายว่าไม่มีสิ่งที่เป็นทวิภาวะเหลืออยู่อีกต่อไป ไม่มีสิ่งที่เป็นซ้ายหรือขวา ไม่มีด้านสว่างหรือด้านมืด ไม่มีความดีและความชั่ว แต่สิ่งที่มีอยู่คือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยของกันและกัน เช่น ความชั่ว (ในที่สุด)จะนำไปสู่การเกิดความดี ความมืดจะนำไปสู่ความสว่าง อวิชชานำไปสู่การเกิดปัญญา (ในทำนองเดียวกันนี้เหมือนกับการอธิบายว่า เมื่อไม่มีความจนก็ไม่รู้จักคุณค่าของความร่ำรวย เมื่อไม่มีความทุกข์ก็จะไม่รู้คุณค่าของความสุข ดังนั้นในที่นี้พระชินพุทธะจึงเป็นตัวแทนของธาตุ ขันธ์ และกิเลส ฯลฯ ได้เพราะเมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่มีพระชินพุทธะ
ทฤษฎีกาลจักร (Time and Space) และแนวคิดหลักของพุทธตันตระนิกาย
ทฤษฎีกาลจักรเป็นทฤษฎีที่สลับซับซ้อนทฤษฎีหนึ่งในอภิปรัชญาพุทธตันตระนิกาย[1] ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่าทฤษฎีนี้เน้นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเคลื่อนที่ของจักรวาลกับกระแสชีวิตในร่างกาย (ของสิ่งมีชีวิต) รวมทั้งกระแสของเวลาในจักรวาลที่ดำเนินไปร่วมกัน ซึ่งโดยเฉพาะพุทธตันตระนิกายนี้ได้นำเสนอว่าการดำเนินร่วมกันของจักรวาลทั้งภายนอกภายในนี้จะปรากฏเป็นภาพ (หรือมิติ) ๔ มิติคือ ๑) จักรวาล ๒) พุทธวิทยา ๓) ปัจเจกชน ๔) สังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของจักรวาลในพุทธตันตระยานแล้วจึงพบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควรกับจักรวาลในมิติของพุทธศาสนาเถรวาท กล่าวคือ
๑) ภาพจักรวาล แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนได้แก่ คัพภธาตุ และวัชรธาตุ ซึ่งคัพภธาตุถือเป็นพลังฝ่ายจิต(หรือนาม) ขณะที่วัชรธาตุเป็นพลังฝ่ายวัตถุ (รูป) ทั้งวัชรธาตุและคัพภธาตุนี้เองที่ฝ่ายมหายานขยายความว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของจักรวาลโดยตรง ทั้งนี้เมื่อจิตกำลังสั่งการ (ซึ่งหากดูด้วยตาเปล่าไม่เห็นว่ากำลังสั่งการ แต่ในทางการแพทย์หรือในทางการวิปัสสนาแล้วพบว่าสามารถเห็นกระบวนการสั่งงานของจิตได้) อยู่นั้น จิตเท่ากับเป็นแกนกลางที่ผลักดันให้วัตถุเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวของวัตถุทุกชนิดนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่มีผลต่อเนื่องร่วมกัน(คล้ายกับปฏิกิริยาลูกโซ่) ความคิดของบุคคลหนึ่งในซีกโลกหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของบุคคลจำนวนมากมายในอีกซีกโลกหนึ่งเสมอ ในทางกลับกันหากบุคคลมีความหยุดนิ่งก็จะย่อมมีผลให้การเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งนี้ในภาษิตจีนที่เรามักกล่าวถึงกันเสมอคือ “ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” เช่นเดียวกับที่ความเคลื่อนไหวย่อมปะทะกับความเคลื่อนไหว แต่ความสงบย่อมไม่ปะทะความสงบ
ในแง่นี้คัพภธาตุ และวัชรธาตุจึงมีความสัมพันธ์กับการกระทำกรรมของสิ่งมีชีวิตโดยตรง เพราะนี้คัพภธาตุ และวัชรธาตุนั้นเองที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการกระทำ และการกระทำต่างๆนั้นก็จะมีผลผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของจักรวาล (เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของตะวันตกเรื่อง Butterfly Effect หรือ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” อย่างมีนัยสำคัญ และสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับกระแสความคิดแบบเต๋าเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติเป็นอย่างสูง) ในด้านที่ดีนั้นหมายถึงทั้งสิ่งมีชีวิตและจักรวาลนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในจักรวาลนั้นนำมาสู่ภาวะที่สมดุลของจักรวาล แต่ในทางกลับกันหากสิ่งมีชีวิต (โดยเฉพาะมนุษย์) ได้ทำกรรมในลักษณะที่เป็นไปในทางที่เบียดเบียนธรรมชาติ (หรืออีกนัยหนึ่งคือเบียดเบียนจักรวาลก็จะมีผลไปถึงการคงอยู่ของจักรวาลเองด้วย) อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับกรณีนี้ทฤษฎีกาลจักรค่อนข้างจะอธิบายไปในทางที่ให้คุณค่าแก่สิ่งมีชีวิตมาก เพราะมีการกล่าวว่าการที่โลกและจักรวาลนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะ“ถ้าโลกว่างจากสิ่งมีชีวิตโลกก็จะถูกทำลาย”เพราะที่สุดแล้วจะต้องถูกธรรมชาติเบียดเบียน (เช่นถูกเบียนเบียนจากน้ำ ไฟ หรือลม ฯลฯ) เพราะหากสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ การกระทำกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเองจะเป็นเครื่องป้องกันภัยจากธรรมชาติได้ (การอธิบายในลักษณะนี้มีข้อสังเกตว่าค่อนข้างมุ่งให้น้ำหนักความสำคัญมาที่สิ่งมีชีวิตหรืออีกนัยหนึ่งก็คือตัวมนุษย์มาก และมีข้อน่าสังเกตว่าการแยกระหว่างธรรมชาติ โลกและจักรวาลนั้นยังลักลั่นอยู่เนื่องจากไม่แน่ว่าธรรมชาติ โลกและจักรวาลจะเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่อย่างไร และหากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าแท้จริงแล้วมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นศูนย์กลางของระบบหรือไม่ หรือทุกสิ่งนับเป็นศูนย์กลางของระบบทั้งหมดร่วมกัน ?)
๒) ภาพพุทธวิทยา มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งอุตตรรูปอื่น ภาพพุทธวิทยาถือว่าเป็นบุคลาธิษฐานของสัจจภาวะหรือ(หนทางที่นำไปสู่การหลุดพ้น)ด้านต่างๆของมรรคา และถือว่าเป็นพลังของฝ่ายชายที่รวมกับพลังของฝ่ายหญิง (ศักตะรวมกับศักติ) หรืออีกนัยหนึ่งพลังของฝ่ายชายถือว่าเป็นพลังกรุณารวมกับพลังของฝ่ายหญิงคือปรัชญา หรือบางแห่งอาจเรียกว่ากรุณากับปัญญาก็มี
ภาพของพุทธวิทยาในนิกายตันตระนี้ โดยทั่วไปแล้วจะนิยมกล่าวถึงพระธยานิพุทธะ (หรือพระชินพุทธะ)[2]๕ พระองค์คือ พระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระรัตนสัมภาวะพุทธะ พระอมิตาภะพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ ซึ่งทั้ง ๕ พระองค์นี้ถือว่าอยู่ในร่มพระมณฑลแห่งพระธยานิพุทธะเดียวกัน และแต่ละพระองค์ก็ทรงมีอิตถีภาวะ (ภาวะแห่งสตรีเพศ) ประจำองค์ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นปัญญาญาณแบบต่างๆ อิตถีภาวะของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นี้เองที่ตันตระนิกายนำเสนอออกมาในรูปสัญลักษณ์ของ “ชายา” หรือ ศักติ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายนั้น ทั้งนี้ การปรากฏของอิตถีภาวะของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ดังกล่าวนี้พุทธศาสนามหายานนิกายตันตระ หรือ วัชรยานพยายามสื่อว่าไม่ใช่หมายถึงการมีชายาจริงๆอย่างที่เข้าใจหากเป็นแต่เพียงบุคลาธิษฐานอย่างหนึ่งที่มุ่งนำเสนอเพื่อให้เข้าใจถึงหลักการของประสานกันของปัญญาและกรุณาที่มีอยู่ในพุทธะเท่านั้น ดังจะได้กล่าวต่อไป
๓) ภาพปัจเจกชน เกี่ยวกับภาพปัจเจกชนนี้มีการอธิบายว่าในตัวของบุคคลทุกคนปัญญากับกรุณานั้นเป็นพลังที่เลื่อนไหลอยู่ตามเส้นประสาท โดยมีการเข้าและออกทางช่องจมูกทั้งซ้ายและขวา (ในทำนองเดียวกับพลังจักรวาล) ปัญญานั้นอยู่ทางช่องจมูกซ้าย เรียกว่าลลนา กรุณาอยู่ในช่องจมูกขวา ความรู้ด้านนี้ยังมีการนำไปปฏิบัติในโยคะชั้นสูงของพุทธตันตระโดยใช้การประสานพลังทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ผลที่ได้คือทำให้เกิดพลังที่ละเอียดอ่อนที่สามารถแทงตลอดในธรรมทั้งหลายได้
๔) ภาพสังคม การสร้างภาพสัญลักษณ์ของสตรีให้แทนปรัชญา และภาพของบุรุษแทนกรุณานั้นปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดวาทกรรมขึ้นมากมาย ทั้งในทางที่สนับสนุนและคัดค้าน ทั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่มีผู้แปรภาพสัญลักษณ์ของสตรีและบุรุษออกมาเป็นรูปธรรมและต่อมาได้นำมาสู่การตีความที่บิดเบือนไป เช่นการแปรความหมายภาพที่นำมาสู่การสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในอ้อมกอดของเทวีในหลากหลายรูปแบบ ยิ่งเมื่อภายหลังมีการนำแนวคิดนี้แปรมาสู่การปฏิบัติแล้วยิ่งทำให้เกิดความเชื่อที่แปลกแยกออกไปมากขึ้น เช่น มีการนำสตรีมาเข้าร่วมในกระบวนการปฏิบัติธรรมโดยเชื่อว่าจะทำให้สามารถบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น (เรียกว่าการใช้ตัณหาเป็นเครื่องมือนำไปสู่จุดหมาย เป็นยานที่นำไปสู่ความหลุดพ้นโดยมีวลีว่า “การหลั่งน้ำอสุจิคือการปลุกโพธิจิต”) ความบิดเบือนทั้งแนวคิดและการปฏิบัติดังนี้เองที่ทำให้พุทธตันตระถูกเรียกว่าเป็นลัทธินอกรีตหรือนอกจารีตแห่งพระพุทธศาสนา[3]
ที่จริงแล้วควรกล่าวว่าจุดเริ่มต้นแห่งความคิดของพุทธตันตระนิกายเกี่ยวกับการอาศัยพลังร่วมกันของปรัชญาและกรุณานั้นนับเป็นสิ่งที่ดี (เพราะนำเสนอเรื่องความสอดคล้อง ความพอดีเป็นแกนหลัก) แต่การตีความและการนำมาสู่การปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างถี่ถ้วน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือแท้จริงแล้วพุทธตันตระนั้นมุ่งนำเสนอเรื่องการสอดประสานของพลังสองส่วนคือปัญญาและกรุณานั้นอย่างไร หากเจตนาเริ่มต้นนั้นเพียงต้องการนำเสนอในเชิงอุปมาว่าการสอดประสานของพลังสองส่วน (คือชายกับหญิง) นั้นหมายถึงการมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์โดยทั่วไปไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง การใช้ปัญญาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์อย่างละเอียดถี่ถ้วนมีเหตุมีผล และทั้งสองส่วนนี้ (คือกรุณาและปัญญา)ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ฯลฯ ก็ควรนับได้ว่าเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ ดังนั้น การเกิดปัญหาความผิดพลาดเกี่ยวกับการตีความแนวคิดของพุทธตันตระจึงเป็นกรณีที่เราผู้ศึกษาพึงระลึกไว้เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจโดยแท้ อย่างไรก็ตามการเกิดปัญหานี้แก่พุทธตันตระทำให้นิกายนี้สูญเสียการยอมรับในแง่ของความเป็นนิกายในพระพุทธศาสนา (มหายาน) อยู่พอควรเพราะคล้ายกับว่าพุทธตันตระนิกายนี้ได้ก้าวออกนอกขอบเขตของความเป็นพุทธศาสนามากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามชาวพุทธตันตระก็ยังสามารถที่จะอธิบายแนวคิดในเรื่องนี้ (เรื่องการสอดประสานพลังของชายกับหญิง) ได้พอควรดังจะได้กล่าวต่อไปญาณวิทยากับพระธยานีพุทธะทั้งห้าพระองค์ในนิกายพุทธตันตระ : อีกลักษณะหนึ่งของการสะท้อนแนวคิดเรื่องจักรวาลที่อยู่ในตน
ญาณวิทยา (หรือ ความรู้ที่เกี่ยวกับการรู้แจ้ง) หรือ Epistemology นี้เป็นการกล่าวถึงในลักษณะที่เป็นการนำญาณวิทยาและเรื่องขันธ์ห้า (คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มาเชื่อมโยงเข้ากันกับคุณลักษณะต่างๆของญาณวิทยาเหล่านั้นให้เป็นสิ่งที่เห็นได้จับต้องได้มากขึ้นโดยเริ่มต้นจากพระธยานีพุทธะทั้งห้าพระองค์เป็นเบื้องต้น เช่น การแปรรูป “ความรู้แจ้ง” ให้ออกมาเป็นรูปของแสงสีหรือความสว่าง การแปรรูปอิทธิฤทธิ์ให้ออกมาเป็นรูปของอาวุธต่างๆของพระธยานีพุทธะ (การยกตัวอย่างเป็นของผู้เรียบเรียง) เป็นต้น กระบวนการดังที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นกระบวนการที่ช่วยสะท้อนและทำความกระจ่างชัดให้แก่พุทธศาสนามหายาน (โดยเฉพาะนิกายพุทธตันตระ)ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ญาณวิทยาทั้งห้าประการของพระธยานีพุทธะทั้งห้าพระองค์นั้นมีการแสดงไว้ดังนี้
๑) พระไวโรจนะพุทธะ เป็นพุทธะที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดของพระธยานีพุทธะทั้งห้าเพราะทรงสถิตอยู่ในศูนย์กลางของจักรวาล (พุทธศาสนิกชนมหายานบางกลุ่มเชื่อด้วยว่าพระไวโรจนะพุทธะนั้นทรงเป็นต้นกำเนิดของพระธยานิพุทธะทั้งหมดเพราะเป็นศูนย์กลางแห่งรัศมี) พระนามไวโรจนะมีความหมายว่า พระพุทธะผู้สว่างเจิดจ้าออกไปทุกทิศทาง โดยมากแล้วพุทธศาสนิกชนมหายานในธิเบต ในเนปาลและอินโดนีเซีย (ชวา) นั้นต่างให้ความเคารพนับถือพระองค์มาก
พระไวโรจนะพุทธะมีพระกายสีขาว มีรัศมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน การที่พระองค์มีพระกายสีขาวหมายถึงความเป็นที่รวมของพุทธะทั้งหมด (เหมือนแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นที่รวมของแสงสีทุกสี) พระไวโรจนะพุทธะยังทรงเป็นตัวแทนแห่งอากาสธาตุ (space) หรืออวกาศ ซึ่งเป็นอสังขตธาตุในความเห็นของพุทธศาสนาเถรวาท อากาสธาตุนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกหนแห่งและมีลักษณะที่โอบล้อมทุกสรรพสิ่งไว้ด้วยกัน[1]พระปัญญาญาณของพระไวโรจนะพุทธะก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้คือ มีอยู่ทุกหนแห่ง ทั้งนี้การที่พุทธศาสนามหายานได้อรรถาธิบายพระไวโรจนพุทธะในลักษณะข้างต้นนี้ทำให้เป็นที่น่าศึกษาต่อไปถึงบทบาทของการใช้บุคลาธิษฐานเพื่อการเชิดชูพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนามหายานต่อไปด้วยว่ามีความครอบคลุมเพียงใด จะเป็นเพียงใช้บุคลาธิษฐานสำหรับพระพุทธเจ้าหรือขยายไปถึงหลักธรรมทั้งหมดด้วยหรือไม่เพียงใด
๒) พระอโมฆสิทธิพุทธะ เป็นพุทธะที่สถิตอยู่ทางทิศเหนือของจักรวาล มีความหมายว่า เป็นผู้มีความสำเร็จไม่สูญเปล่า หรือผู้ที่มองเห็นเป้าหมาย มีพระญาณชื่อว่า “สรรพสิทธิญาณ” เป็นคุณสมบัติของพระองค์ หมายถึงญาณหรือความรู้ที่ทำให้สำเร็จทุกอย่าง หรือญาณที่พร้อมด้วยพรที่ทำให้สำเร็จสมปรารถนา พระอโฆสิทธิพุทธะมีพระลักษณะที่แสดงการปกป้องคุ้มครองจิตจากอันตรายนานาประการ มีพระหัตถ์ขวาที่ยกขึ้นเสมอพระอุระ อุ้งพระหัตถ์หงายออกด้านนอก นิ้วพระหัตถ์ชี้ขึ้นด้านบน พาหนะประจำพระองค์คือครุฑหรือนกฟีนิกซ์ การที่พระอโมฆสิทธิประทับบนครุฑนั้นเท่ากับแสดงว่าทรงดำเนินกรณียกิจเกี่ยวข้องกับทางโลก (เพราะครุฑนั้นหมายถึงโลก) ในมิตินี้จึงมีการตีความหมายว่าพระอโมฆสิทธินั้นทรงมีความเกี่ยวข้องกับกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดของสรรสัตว์ในโลกด้วย ขณะที่อิตถีภาวะของพระอโมฆสิทธิพุทธะนั้นเรียกว่า”ตารา” หมายถึงการข้ามมหาสมุทรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
๓) พระรัตนสัมภาวะพุทธะ เป็นพุทธะที่สถิตอยู่ทางทิศใต้ของจักรวาล มีความหมายว่า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งแก้วมณี มีพระกายสีเหลืองทองอันหมายถึงธาตุดิน หรืออีกนัยหนึ่งคือหมายถึงภาวะที่นำมาซึ่งการบังเกิดของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ พระญาณหรือญาณหยั่งรู้ของพระองค์นั้นเป็นลักษณะของความเท่าเทียม (เหมือนเช่นดินที่เปิดโอกาสให้น้ำนั้นแทรกซึมไปได้ทุกหนแห่ง) ซึ่งทำให้มีการขนานนามมิติแห่งอิตถีเพศของพระองค์ว่าคือ“มามกี” แปลว่า ความรู้ภาวะอันเสมอกันของสรรพสิ่ง พระลักษณะของพระองค์คือประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลาในท่าสมาธิ พระหัตถ์ขวาหงายออกพระดัชนีและพระอังคุฐ (นิ้วชี้และนิ้วโป้ง) จรดกันเป็นวงกลมและทำอาการเหมือนชี้ลงไปที่แผ่นดิน
๔) พระอักโษภยะพุทธะ เป็นพุทธะที่สถิตอยู่ในพุทธเกษตรด้านทิศตะวันออก ทรงเป็นประมุขแห่งปัญญา (วัชรโคตร) พระนามของพระอโษภยะมีความหมายว่า ไม่กำเริบ ไม่หวั่นไหว หรืออีกนัยหนึ่งคือความสงบนิ่ง ปราศจากความเดือดร้อน มีพระญาณที่คู่กับพระองค์คืออาทาสญาณ หรือญาณแห่งความรู้แจ้งแทงตลอด “ มีอุปมาเหมือนดังกระจก” หรือน้ำที่ใสสะอาดที่สามารถส่องให้เห็นวัตถุที่อยู่ภายในน้ำได้ (พระอักษโภยะจึงเป็นตัวแทนแห่งธาตุน้ำด้วย) พระรูปกายของพระองค์ที่พุทธตันตระนิยมสร้างนั้นเป็นรูปประทับนั่ง พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาในอิริยาบถทำสมาธิ พระหัตถ์ขวานั้นเหยียดออก มีพระดัชนีชี้ลงที่พื้นดินในทำนองเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอ้างเอาพระธรณีเป็นพยานในบารมี ๓๐ ทัศของพระองค์ ดูคล้ายกับพระรัตนสัมภาวะ มีพระกาย (สัมโภคกาย) เป็นสีน้ำเงินเข้ม ส่วนมิติแห่งอิตถีเพศของพระองค์นั้นเรียกว่า “โลจนา”
๕) พระอมิตตาภะพุทธะ เป็นพุทธะที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด โดยตันตระนิกายเชื่อกันว่าพระองค์สถิตอยู่ทางทิศตะวันตกของจักรวาล อยู่ในพุทธเกษตรที่มีชื่อว่าสุขาวดี พระนามของพระอมิตตาภะมีความหมายว่า“พระผู้มีรัศมีประมาณมิได้” มีญาณคือปริจเฉทญาณที่ช่วยกำหดในการวิเคราะห์แยกแยะพิจารณาความรู้ต่างๆให้แยบคายยิ่งขึ้น พระอมิตตาภะพุทธะนี้มีภาพลักษณ์ที่คล้ายกับพระศากยมุนีพุทธเจ้า (พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมติของเถรวาท) เช่นมีพระกรรณยาว มีพระศกขดเป็นทักษิณาวัตร หรือการที่ทรงมีพระอุณหิตอยู่บนพระเศียร ฯลฯ และนอกจากนั้นแล้วก็ยังปรากฏว่ายังประกอบไปด้วยพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการครบถ้วนด้วย อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของพระอมิตตาภะพุทธะนั้นก็ได้แก่เครื่องหมายสวัสดิกะที่อยู่บนพระวรกายของพระองค์ซึ่งสื่อความหมายถึงความหลุดพ้นเป็นสำคัญ
ความเป็นบุคลาธิษฐานของพระอมิตตาภะพุทธะนั้นมีความสำคัญอยู่การเป็นเครื่องแสดงถึงมิติแห่งพระโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอยู่จริง มีอีกชื่อหนึ่งว่า อมิตายุส หมายถึงชีวิตประมาณมิได้อันหมายถึงธรรมที่แผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ชาวธิเบตมักให้พระอมิตตาภะพุทธะนี้ปรากฏพร้อมกับพระมัญชุศรีและพระวัชรปาณิโพธิสัตว์เพื่อสื่อความหมายในด้านปัญญาดังกล่าว อนึ่งพระปัญญาของพระอมิตตาภะพุทธะนั้นชาวพุทธมหายานมักอธิบายว่าเป็นปัญญาที่กว้างขวางเพื่อการจำแนกแยกแยะให้เห็นคู่ตรงข้าม มองเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงโดยไม่ลำเอียงซึ่งเป็นไปตามอิตถีภาวะของพระองค์ที่มีชื่อว่า “ปาณฑรา” หรือ “ปาณฑราวิลาสินี”
ปาณฑราวิลาสินีนั้นทรงเครื่องสีขาวประทับนั่งอยู่บนดอกบัวสีขาว ในพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวขาวหมายถึงความสว่างแห่งปัญญา และความสว่างแห่งโพธิจิตที่ไปถึงสรรพสัตว์ทั้งปวง เป็นเสมือนมารดาแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นคุณลักษณ์เฉพาะของพระพระอมิตตาภะพุทธะด้วย
การอธิบายความหมายของญาณวิทยาห้าประการที่มีอยู่ในพระพุทธเจ้าห้าพระองค์นี้มิใช่เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้โดยผิวเผินเพราะญาณแต่ละอย่างของแต่ละพระองค์นั้นได้รับการนำไปเชื่อมโยงเข้าในพุทธประวัติ (และเชื่อมโยงกับเหตุผลหลายประการที่เนื่องกับหลักการของมหายาน) ด้วยอย่างแนบแน่น เช่น เหตุผลที่ว่าพระชินพุทธเจ้าหรือธยานิพุทธะนั้นเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง หรือหากแยกแยะออกมาในแต่ละพระองค์ พระอักโษภยะพุทธะนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าที่ทรงมีชัยเหนือพญามารในวันแรกแห่งการตรัสรู้ พระอมิตาภะพุทธะเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตเข้าถึงธรรมภายใน พระอโมฆะสิทธิพุทธะเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในขณะที่ทรงช่วยเหลือสรรพสัตว์ ขณะที่พระไวโรจนพุทธะเป็นสัญลักษณ์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาที่ทรงแสดงธรรม
นอกจากนี้แล้วพระปฏิมาของพระชินพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ที่ปฏิมากรได้ปั้นแต่งออกมาอย่างสวยงามพิสดาร มีการแทรกคำอธิบายถึงความหมายของสีสันต่างๆในแต่ละพระองค์ ความเกี่ยวข้องกับธาตุ อายตนะต่างๆ ฯลฯ นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดให้เข้ากับ “คุณลักษณะพิเศษ” หรือญาณวิทยาที่มีอยู่ในพุทธะแต่ละพระองค์ด้วย ซึ่งในที่นี้ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ ความพยายามในการนำเสนอคุณลักษณะพิเศษหรือพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าตามรูปแบบของพุทธตันตระเช่นนี้จะทำให้ “พุทธานุภาพ” ที่พุทธศาสนาเถรวาทถือกันมาเป็นเวลายาวนานนั้นกลับกลายไปเป็นความจริงสมมติหรือเป็นบุคลาธิษฐานไปหรือไม่ หรือจะทำให้ความจริงปรมัตถ์ที่มีอยู่ในพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้านั้นกลับกลายไปเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญทางมหายานศึกษาท่านหนึ่งคือสุมาลี มหณรงค์ชัยได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่าการจัดแบ่งกลุ่ม(หรือการแสดงคุณลักษณะพิเศษของพุทธะ) ดังที่พุทธตันตระได้กระทำไว้นี้เป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพระปัญญาญาณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น[2] โดยกล่าวว่าการจัดแบ่งโคตรตระกูลของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องของทางโลก เป็นเรื่องของการแสดงความแบ่งแยก ชี้ความแตกต่างและเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มแต่การแบ่งในที่นี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแสดงให้เห็นคุณสมบัติทางจิตวิญญาณ สี องค์ประกอบ หรือท่าทางต่างๆ (ของพระชินพุทธเจ้า) นั้นไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นตามใจใครแต่คือการจุดประกายทางสายตาให้เกิดประสบการณ์ภายใน เป็นการสร้างความตระหนักรู้ความจริงในหลายมิติ
ปฏิจจสมุปบาทในนิกายพุทธตันตระ: ความสัมพันธ์กับทฤษฎีกาลจักร
ตามหลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมสำคัญอันหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ธรรมข้ออื่นๆได้เป็นอันมาก ในด้านหนึ่งปฏิจจสมุปบาทเท่ากับเป็นทฤษฎีความสัมพันธ์ร่วมกันของสิ่งต่างๆ สำหรับในส่วนของพุทธศาสนามหายานในธิเบตนั้นมีคตินิยมในการสร้างรูปวงกลมที่มีลักษณะเหมือนล้อเกวียนซึ่งมี ๖ ซี่ (หรือ ๖ กำ) โดยให้ล้อเกวียนนั้นซ้อนกัน ๓ ชั้น มีรูปพระอวโลกิเตศวรในร่างยักษ์หรือพญายมหรือท้าวมหากาลนั่งคาบล้อเกวียนและมือทั้งสองข้างโอบรอบล้อเกวียนไว้ คติการสร้างล้อเกวียนนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดีย และต่อมาคณาจารย์ในฝ่ายสรวาสติวาทินนำได้ไปเผยแผ่ในธิเบตด้วย
ศูนย์กลางของวงกลมมีรูปไก่ งู และหมูกำลังไล่กินหางกันและกันอยู่ในวงกลมนั้น ในชั้นต่อมาซึ่งแบ่งเป็น ๖ ช่องมีความหมายสื่อถึงภูมิทั้ง ๖ ส่วนวงกลมด้านนอกแบ่งเป็น ๑๒ ช่อง หมายถึงปฏิจจสมุปบาท ๑๒ และภาพทุกภาพที่ปรากฏในวงกลม ๓ ชั้นนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด โดยรูปไก่ หมายถึง โลภะ รูปงู หมายถึง โทสะ รูปหมู หมายถึง โมหะ ทั้งสามประการนี้ถือเป็นมูลรากของการเกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสต่างๆ อันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของสังสารวัฏ
ถัดจากศูนย์กลางซึ่งเป็นช่อง ๖ ช่องนั้นหมายถึงภูมิทั้ง ๖ โดยให้ช่องที่ ๑ (บนสุด) หมายถึงเทวภูมิ ช่องที่ ๒ (ถัดมาทางด้านขวา) หมายถึง อสุรภูมิ ช่องที่ ๓ หมายถึง เปตภูมิ ช่องที่ ๔ (ล่างสุด) หมายถึง นรกภูมิ ช่องที่ ๕ หมายถึง ดิรัจฉานภูมิ ช่องที่ ๖ หมายถึง มนุสสภูมิ
ส่วนวงกลมชั้นนอกสุด ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๒ ช่อง (คือปฏิจจสมุปบาท) นั้นเรียงลำดับจากรูปหญิงชรา หมายถึง อวิชชา ช่างปั้นหม้อ หมายถึง สังขาร รูปลิง หมายถึง วิญญาณ รูปชายสองคนที่นั่งในเรือ หมายถึง นามรูป รูปบ้านที่มีช่องหน้าต่าง ๖ บานหมายถึง สฬายตนะทั้ง ๖ รูปคู่รัก หมายถึง ผัสสะ รูปลูกศรแทงตามนุษย์ หมายถึง เวทนา รูปคนกำลังหิวมีหญิงคอยบริการ หมายถึง ตัณหา รูปคนเก็บผลไม้ หมายถึง อุปาทาน รูปคนเสพเมถุน หมายถึง ภพ รูปหญิงคลอดลูก หมายถึง ชาติ รูปคนแบกศพ หมายถึง ชรามรณะ
ภาพเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงเรื่องราวของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏในอภิปรัชญามหายานนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการให้ความหมายในเรื่องเดียวกันนี้ในพุทธศาสนาเถรวาท แสดงให้เห็นว่าหลักการทางพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ (ปฏิจจสมุปบาท) เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวางทั้งในเถรวาทและมหายาน อย่างน้อยก็ในบรรดานิกายหลัก
ประเด็นความเกี่ยวข้องระหว่างปฏิจจสมุปบาทกับทฤษฎีกาลจักรในนิกายพุทธตันตระนั้นเห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องกันมากพอสมควรโดยเฉพาะในมิติของความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นหลักการที่ปักแน่นอยู่ในเรื่องของเหตุและผล เรื่องของการเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ และค่อนข้างจะสอดคล้องกันกับทฤษฎีกาลจักรที่กล่าวถึงการสอดประสานกันของธรรมชาติเช่นกัน (พิจารณาจากภาพที่มีความต่อเนื่องกัน คือ ภาพแรกก่อให้เกิดภาพที่สอง ภาพที่สองเป็นผลพวงของภาพแรกและทำให้เกิดภาพต่อๆมา ฯลฯ การที่แต่ละภาพจะขาดช่วงจากกันไม่ได้เพราะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เป็นต้น)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทฤษฎีกาลจักรจะกล่าวถึงเรื่องการสอดประสานของธรรมชาติ แต่ก็มุ่งให้ความสำคัญเรื่องของ “ความอ่อนโยน” ที่ต้องสอดประสานกับ “ความแข็งแกร่งทางปัญญา” นั้นเป็นประการหลัก โดยตัวแทนของความอ่อนโยนให้แทนด้วยภาพของพุทธะ (ซึ่งเท่ากับเป็นตัวแทนของบุรุษเพศ ดังที่ได้เรียกว่า “ศักตะ”) และให้ความแข็งแกร่งทางปัญญานั้นเป็นตัวแทนของสตรีเพศ ดังที่ได้เรียกว่า “ศักติ” ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งหากจะมีการตีความอย่างง่ายแล้วจะพบว่าที่จริงแล้ว “ศักตะ” กับ “ศักติ” ก็เป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่งคล้ายกับนามธรรมอื่นๆ เช่น ความงาม ความสงบ ความดี ฯลฯ เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเรากล่าวถึงศักติ ภาพของความอ่อนโยน ความเมตตา ความต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์จึงน่าจะปรากฏชัดขึ้นในความรู้สึกของเราได้ และเมื่อเรากล่าวถึงศักตะ ภาพของความมีไหวพริบ การมีความรู้ การรู้แจ้ง ความองอาจอันเนื่องมาจากการมีความรู้จึงน่าจะปรากฏชัดขึ้นในความรู้สึกของเราได้เช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ฝ่ายพุทธตันตระจึงเลือกที่จะอธิบายความเป็นนามธรรมของศักติ และศักตะให้ปรากฏในรูปของสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อให้ผู้นับถือทั่วไปเข้าใจ (จึงนำมาสู่การสร้างรูปพุทธะคู่กับชายาในรูปแบบต่างๆนั้น)
ศักตะและศักติในทฤษฎีกาลจักรจึงมีความหมายเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทำนองเดียวกับการใช้บุคลาธิษฐานเพื่อสื่อความหมายทางภาษาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด ศักตะเมื่อจะแทนความหมายของกรุณาจึงมีภาพปรากฏต่างๆกัน เช่น ภาพพุทธะที่มีพระพักตร์อ่อนโยน มีลักษณะละเมียดละไมและให้ความรู้สึกของการแผ่ขยายความกรุณาในสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ขณะที่ศักติเมื่อจะแทนความหมายของปัญญาจึงปรากฏให้เห็นเป็นภาพของ “ชายา” ที่ต้องเคียงคู่อยู่กับพุทธะอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะแสดงว่ากรุณาแล้วต้องอาศัยปัญญาเสมอด้วย ฯลฯ อีกประการหนึ่งการที่ศักติของพุทธะแต่ละองค์นั้นที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน จะมีผลถึงลักษณะของศักติของแต่ละพระองค์ด้วยจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งพุทธะและศักตินั้นล้วนแต่เป็นองค์เดียวกันแต่มีสองสิ่งประสานอยู่ในองค์เดียวนั่นเอง (เช่นเดียวกับธรรมชาติของไฟที่ต้องที่ทั้งแสงสว่างและความร้อน น้ำที่จะต้องมีลักษณะที่แทรกซึมได้ง่ายและสามารถแปรเปลี่ยนไปตามภาชนะและอุณหภูมิที่มันอยู่ เช่นกัน)
ดังนั้นหากกล่าวโดยทั่วไปแล้วแนวคิดการสอดประสานของเพศชายและเพศหญิงในทฤษฎีกาลจักรนั้นจึงเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงและเข้ากันได้กับแนวคิดของลัทธิเต๋า (หรือเต๋าเต๋อจิง) อย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเรื่องกาลจักร (หรือจักรวาลวิทยา) ในพุทธศาสนาเถรวาทอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือในขณะที่ทฤษฎีกาลจักรเป็นเรื่องของการสอดประสานกันของเพศชาย-เพศหญิงและสรรพสิ่งคือชีวิตและจิตใจที่มีอยู่ในตน แต่จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาเถรวาทก็กลับเป็นเรื่องของโลกธาตุ เรื่องภพภูมิ เรื่องสวรรค์ นรก และพรหมภูมิ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นแกนความรู้ความเชื่อดั้งเดิมมาเป็นเวลานานแล้วนั้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตามควรกล่าวได้ว่าสำหรับแนวคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นถือเป็นแนวคิดที่มีอยู่ในกระบวนการและความเชื่อในพุทธศาสนาทั้งนิกายมหายานและเถรวาทเสมอเหมือนกัน
จริยศาสตร์หรือสิ่งที่ควรประพฤติสำหรับผู้นับถือตันตระนิกาย
ดังได้เห็นแล้วว่าพุทธตันตระนั้นมีแนวทางที่จะไม่แยกสรรพสิ่งของจากตัวมนุษย์อย่างเด็ดขาด แต่พยายามที่จะนำสิ่งที่แวดล้อมตัวมนุษย์อยู่นั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาและเพื่อการอธิบาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเป็นการอธิบายโดยใช้บุคลาธิษฐานเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ในส่วนของจริยศาสตร์หรือสิ่งอันควรประพฤติของผู้นับถือตันตระนิกายนั้น กล่าวได้ว่าบุพพกิจห้าแสน[1] วิธีการของการบำเพ็ญบุพพกิจห้าแสนนั้นเริ่มต้นจากการกราบด้วยอัฏฐางคประดิษฐ์ (คืออวัยวะต้องสัมผัสพื้น ๘ จุด) ทำเช่นนี้แสนครั้ง ต่อจากนั้นแล้วให้สวดมนต์นอบน้อมแด่พระโพธิสัตว์แสนครั้ง รับไตรสรณคมณ์ (รับพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต) แสนครั้ง บูชาเทวดาแสนครั้ง และสวดมนต์ตามวิธีการที่ลามะสั่งสอนแสนครั้ง
http://www.vcharkarn.com/vblog/114518/7 บทความคักลอก
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น