วันอังคาร, ตุลาคม 09, 2555
Unknown
เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
"ถ้าบุคคลไม่ได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำ
มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้ บุคคลนั้นควรเที่ยวไปคนเดียว ประเสริฐกว่า"
พระวินัยธรกับพระธรรมกถึกเถียงกันเรื่องวินัย
ครั้งนั้น มีภิกษุ ๒ รูป คือ พระวินัยธร (ชำนาญด้านพระวินัย) กับพระธรรมกถึก (ชำนาญด้านพระธรรม) ต่างก็มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี วันหนึ่ง พระธรรมกถึกไปฐาน (ส้วม) แล้วทิ้งน้ำที่เหลือจากการชำระไว้ในภาชนะในฐานนั้นก็ออกมา ภายหลัง พระวินัยธรเข้าไปฐานและเห็นน้ำนั้น ออกมาถาม ก็ทราบว่าพระธรรมกถึกเหลือน้ำไว้ จึงกล่าวว่า “ท่านไม่ทราบหรือว่าทำอย่างนั้นเป็นอาบัติ ถ้าท่านไม่ได้แกล้งทำ แต่เพราะขาดสติ ก็ไม่เป็นอาบัติ” ส่วนพระธรรมกถึกเห็นว่าไม่น่าจะเป็นอาบัติ แต่ก็บอกว่า “เอาเถอะ ถ้าอย่างนั้น ผมจะปลงอาบัติ”
ฝ่ายพระวินัยธร ได้บอกแก่บริวารตนว่า “พระธรรมกถึกรูปนี้ ต้องอาบัติแล้วก็ไม่รู้” บริวารของพระวินัยธรก็ไปกล่าวล้อบริวารของพระธรรมกถึกว่า “พระอุปัชฌาย์ของท่านแม้ต้องอาบัติแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” บริวารของพระธรรมกถึกก็ไปเล่าให้พระอุปัชฌาย์ของตนฟัง พระธรรมกถึกจึงได้พูดว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนพูดว่า ไม่เป็นอาบัติ เดี๋ยวนี้กลับพูดว่า เป็นอาบัติ พระวินัยธรนั้นพูดมุสา” บริวารของพระธรรมกถึกนั้นจึงไปกล่าวล้อบริวารของพระวินัยธรว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านนั้น พูดมุสา” และด้วยเหตุนี้เอง บริวารของพระวินัยธรและพระธรรมกถึกนั้น ก็ทำความทะเลาะกันและกันลุกลามมากขึ้น
ภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาสแล้ว จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม (กรรมที่สงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้มีความผิด) แก่พระธรรมกถึก เพราะโทษที่ไม่เห็นอาบัติ
จำเดิมแต่กาลนั้น แม้พวกอุปัฏฐากผู้ถวายปัจจัยของภิกษุ ๒ รูปนั้น ก็ได้เป็น ๒ ฝ่าย พวกภิกษุณีผู้รับโอวาทก็ดี พวกอารักขเทวดา (เทวดาผู้คุ้มครองรักษา) ก็ดี ของภิกษุ ๒ รูปนั้น พวกอากาสัฏฐเทวดา (เทวดาผู้สถิตอยู่ในอากาศ) ผู้ที่เป็นเพื่อนเห็น เพื่อนคบ ของพวกอารักขเทวดาเหล่านั้นก็ดี พวกปุถุชนทั้งปวงก็ดี ได้เป็น ๒ ฝ่าย ตลอดจนพรหมโลกก็โกลาหลกึกก้องเป็นเสียงเดียว ได้ขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพ
พระศาสดาตรัสสอนให้สามัคคีกัน
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า และได้กราบทูลถึงการที่ภิกษุทะเลาะกัน พระพุทธองค์ทรงส่งโอวาทไปว่า “ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน” ถึง ๒ ครั้ง ทรงสดับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน” ครั้นหนที่ ๓ ทรงสดับว่า “ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว” จึงเสด็จไปสู่สำนักของเธอทั้งหลาย ที่โฆสิตารามนั้นแล้ว ตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน” แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบทายให้ แท้จริง แม้นางนกลฏุกิกา (นกไส้) อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต” แล้วตรัสลฏุกิกชาดก ทรงตรัสต่ออีกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย เพราะว่า แม้นกกระจาบดังหลายพัน อาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต” แล้วตรัสวัฏฏกชาดก
พระศาสดาทรงระอาจึงเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ป่ารักขิตวัน
เมื่อพวกภิกษุนั้นก็ไม่เชื้อถือถ้อยคำของพระบรมศาสดา ทำให้พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ไม่ตรัสบอกพระภิกษุสงฆ์ ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ แล้วเสด็จไปทางบ้านปาริเลยยกะ เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่ควงไม้สาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน อันช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากอยู่เป็นผาสุก
พวกอุบาสกทรมานพระภิกษุ
ฝ่ายพวกอุบาสก ผู้อยู่ในเมืองโกสัมพี เมื่อไปสู่วิหาร ไม่เห็นพระศาสดา สอบถามทราบความว่า พระพุทธองค์เสด็จไปสู่ป่าปาริเลยยกะเสียแล้ว เพราะเหตุที่ภิกษุทั้งหลายทะเลาะกัน ทำให้พวกเขาไม่พอใจที่ไม่ได้พบพระศาสดาเพราะภิกษุเหล่านั้น จึงพร้อมใจกันไม่แสดงความเคารพ ไม่ถวายอาหาร เมื่อได้รับความลำบาก ทำให้ภิกษุเหล่านั้นคลายทิฐิ ต่างก็ขอขมาและขออภัยต่อกัน ถึงกระนั้น พวกอุบาสกก็ยังไม่ยอมถวายการอุปถัมภ์ ถ้ายังไม่ได้ขอขมาพระศาสดา แต่เพราะเป็นภายในพรรษา ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถไปเฝ้าพระศาสดาได้ ทำให้พรรษานั้นล่วงไปด้วยความลำบาก
ช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากพระศาสดา
ครั้งนั้น พระยาช้างได้ดำริว่า “เราเบื่อหน่ายด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้นและลูกช้าง เคี้ยวกินหญ้าที่เราเด็ดแล้ว คอยเคี้ยวกินกิ่งไม้เราที่หักลง และเราได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเราขึ้นลงสู่ท่า พวกช้างพังชอบเดินเบียดเสียดเรา ถ้าหากเราหลีกออกจากหมู่อยู่ตัวเดียว น่าจะดี” ดังนั้น พระยาช้างจึงหลีกออกจากโขลงเข้าไป ณ บ้านปาริเลยยกะ ราวป่ารักขิตวัน ควงไม้สาละใหญ่ และได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ก่อนแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แลดูที่พระองค์ทรงประทับเห็นว่ายังไม่เรียบร้อย จึงใช้งวงจับกิ่งไม้กวาดบริเวณโคนต้นสาละ ตั้งแต่นั้นมา พระยาช้างนั้นก็คอยอุปัฏฐากด้วยน้ำร้อน น้ำเย็น และผลไม้ ครั้นถึงเวลาบิณฑบาตก็ถือบาตรและจีวรไปส่งพระองค์จนถึงทางเข้าหมู่บ้าน และยืนคอย ณ ที่นั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาก็รับบาตรและจีวรนำกลับไปยังที่ประทับ แล้วยืนคอยถวายการรับใช้ ส่วนในเวลากลางคืน พระยาช้างก็ถือท่อนไม้เดินตรวจไปมาคอยป้องกันอันตรายอันจะพึงมีจนกว่าอรุณจะขึ้น
วานรถวายรวงน้ำผึ้ง
ในกาลนั้น วานรตัวหนึ่ง เห็นช้างนั้นลุกขึ้นแล้ว ทำอภิสมาจาริกวัตร (คือการปฏิบัติ) จึงคิดที่ จะทำอะไรถวายแด่พระตถาคตเจ้าบ้าง วันหนึ่ง เที่ยวไปเห็นรวงผึ้งที่กิ่งไม้หาตัวมิได้ จึงหักกิ่งไม้แล้ว นำรวงผึ้งพร้อมทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดา ได้เด็ดใบตองรองถวาย เมื่อพระศาสดาทรงรับแล้วแต่นิ่งเสีย วานรแลดูอยู่ คิดว่า “ทำไมไม่ฉัน” จึงจับปลายไม้พลิกดู เห็นตัวอ่อนแล้ว จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนออกแล้วนำไปถวายใหม่ พระศาสดาทรงบริโภคแล้ว วานรก็ดีใจ กระโดดจับกิ่งไม้โหนไปมา เผอิญกิ่งไม้นั้นหักแล้ว วานรนั้นตกลงมาและถูกปลายตอไม้แทงตาย แล้วไปเกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ มีนางอัปสรตั้งพันหนึ่งเป็นบริวาร
พระยาช้างสังเกตดูวัตรพระอานนท์
ข่าวที่พระตถาคตเจ้ามีพระยาช้างอุปัฏฐาก ประทับอยู่ในราวป่ารักขิตวันนั้น ได้แพร่กระจายไปทั่วชมพูทวีป ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ได้ส่งสาสน์จากนครสาวัตถีไปถึงพระอานนท์เถระว่า “พวกตนอยากจะเข้าเฝ้าพระศาสดา” แม้แต่ภิกษุทั้งหลาย ที่มาจากทิศต่างๆ ถึง ๕๐๐ รูป ก็ประสงค์จะเข้าเฝ้าเหมือนกัน
พระอานนท์เถระเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้เข้าพระพุทธองค์ จึงพาภิกษุเหล่านั้นไปถึงราวป่าแล้ว ให้พวกภิกษุคอยข้างนอกด้วยคิดว่า "การเข้าไปสู่สำนักพระตถาคตเจ้า ผู้เสด็จอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส พร้อมกับภิกษุจำนวนมาก ย่อมไม่ควร” แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแต่รูปเดียว เมื่อพระยาช้างปาริเลยยกะเห็นพระอานนทเถระนั้นเดินมา ก็ถือท่อนไม้วิ่งไป พระศาสดาตรัสห้ามพระยาช้างว่า “นั่นเป็นพุทธอุปัฏฐากของเรา”
ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญาเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า
พระอานนท์เถระวางบริขารของตนที่พื้น ถวายอภิวาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง พระยาช้างเห็นดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสว่า “สมกับเป็นบัณฑิตย์ เพราะธรรมดาศิษย์ย่อมไม่วางสิ่งของตน บนที่นั่ง ที่นอนของครู” พระศาสดาทราบว่าพระอานนท์มาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป จึงตรัสเรียกเข้ามา แล้วทรงทำปฏิสันถารภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จประทับอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส ทำกิจที่ทำได้ด้วยยาก เพราะไม่มีผู้ทำวัตรปฏิบัติ ถวายน้ำสรงพระพักตร์ เป็นต้น” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเรา อันพระยาช้างปาริเลยยกะทำแล้ว ก็อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้ อยู่ด้วยกันควรแล้ว เมื่อไม่ได้สหายเห็นปานนี้ ความเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า แล้วตรัสอบรมภิกษุทั้งหลายว่า
"ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำมีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้ ควรมีใจยินดี มีสติ ครอบงำอันตรายซึ่งคอยเบียดเบียนรอบข้างทั้งปวงเสียแล้ว เที่ยวไปกับสหายนั้น ถ้าบุคคลไม่ได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำ มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จไว้ เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้ บุคคลนั้นควรเที่ยวไปคนเดียว เหมือนพระราชาผู้ละแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชำนะแล้วเสด็จอยู่แต่องค์เดียว และเหมือนพระยาช้างอันชื่อว่ามาตังคะเที่ยวอยู่ในป่าแต่เชือกเดียวการเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า ความเป็นสหายไม่มีในชนพาล บุคคลผู้ไม่ได้สหายเห็นปานนั้นควรมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้เดียวและไม่ควรทำบาปทั้งหลาย เหมือนพระยาช้าง ชื่อมาตังคะผู้มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่เชือกเดียว และหาได้ทำบาปไม่”
ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ รูป ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว พระอานนทเถระกราบทูลว่า “ชาวเมืองมีอนาถบิณฑกะเศรษฐีเป็นต้นอยากเห็นการกลับไปของพระศาสดา” พระพุทธองค์จึงได้ส่งบาตรและจีวรให้พระอานนท์ แล้วเสด็จออกไป ลำดับนั้น พระยาช้างได้ยืนขวางทางไว้ พระองค์ทราบความคิดของพระยาช้าง ตรัสว่า “พระยาช้างต้องการถวายอาหารแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น ให้พวกท่านอยู่ก่อนเถิด” ฝ่ายพระยาช้างเข้าไปสู่ราวป่าแล้ว รวบรวมผลไม้ต่าง ๆ มากองไว้ ในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายผลไม้นั้น แต่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปไม่อาจฉันผลไม้ให้หมดสิ้นได้
ช้างทำกาละไปเกิดเป็นเทพบุตร
เมื่อเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไปแล้ว พระยาช้างเดินไปตามระหว่าง ๆ แห่งภิกษุทั้งหลาย ยืนขวางพระพักตร์พระศาสดาไว้ ลำดับนั้น พระองค์ตรัสกะช้างนั้นว่า “ปาริเลยยกะ เราจะไปพร้อมภิกษุทั้งหลาย การไปครั้งนี้เราจะไม่กลับมา ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคและผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้ เจ้าหยุดอยู่เถิด อย่าขวางเราเลย” พระยาช้างได้ฟังรับสั่งดังนั้นแล้ว ได้สอดงวงเข้าปากร้องไห้ เดินตามไปข้างหลัง ๆ ก็พระยาช้างนั้น ถ้าเชิญพระศาสดาให้กลับได้ ก็พึงปฏิบัติโดยอาการนั้นแลจนตลอดชีวิต ฝ่ายพระศาสดาเสด็จถึงแดนหมู่บ้านนั้นแล้ว ตรัสว่า “ปาริเลยยกะเอย จำเดิมแต่นี้ไป มิใช่ที่ของเจ้า เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ มีอันตรายเบียดเบียนอยู่รอบข้าง เจ้าจงหยุดอยู่เถิด” พระยาช้างได้ยืนร้องไห้อยู่ในที่นั้น ครั้นพระศาสดาเสด็จไปจนพ้นสายตา ก็หัวใจแตกตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อปาริเลยยกะ ท่ามกลางนางอัปสรพันหนึ่ง ในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เพราะความเสื่อมใสในพระศาสดา
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทูลขอขมาพระศาสดา
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ทราบว่าพระศาสดาเสด็จถึงกรุงสาวัตถีแล้ว จึงได้ไป ณ ที่นั้นเพื่อจะกราบทูลขอขมาพระศาสดา ฝ่ายพระเจ้าโกศลทรงสดับว่า “พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ที่ก่อการแตกร้าวจะมาเข้าเฝ้าพระศาสดา” จึงไม่อยากให้เข้ามาสู่แว่นแคว้นของพระองค์ และได้ทูลความนั้นแก่ศาสดา แต่ก็ถูกพระพุทธองค์คัดค้านว่า “อย่าทำอย่างนั้นเลยมหาราช ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีศีล แต่ว่าไม่เชื่อฟังคำอาตมภาพ จึงได้วิวาทกันและกัน แต่บัดนี้ ได้สำนึกผิดมาเพื่อต้องการขอขมาอาตมภาพ” แม้ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ ก็ไม่อยากให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่วิหารของตน แต่ถูกพระศาสดาทรงห้ามเหมือนอย่างนั้น และเมื่อภิกษุมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้จัดเสนาสนะอันสงัดแก่พวกเธอ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่าอื่นก็ไม่นั่ง ไม่ยืน ร่วมกับภิกษุชาวโกสัมพีเหล่านั้น ฝ่ายประชาชนผู้มาแล้ว ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกไหนภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าว” พระศาสดาตรัสว่า “พวกนั่น” เมื่อพวกเธอถูกชาวบ้านชี้นิ้วว่า “นั่นคือหมู่ภิกษุที่ทะเลาะวิวาทกัน” จึงได้แต่ก้มหน้า เพราะความอาย ทั้งหมดจึงฟุบลงแทบบาทมูลแห่งพระศาสดา แล้วทูลขอขมาต่อพระพุทธองค์ พระศาสดา ตรัสว่า “เธอทั้งหลายทำกรรมหนักแล้ว เมื่อบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา ผู้ทำความสามัคคีอยู่ แต่ไม่ตามคำของเรา ฝ่ายบัณฑิตในปางก่อน สดับโอวาทของมารดาและบิดาผู้ถูกประหารชีวิต เมื่อบิดามารดานั้นแม้ถูกปลงชีวิตอยู่ ก็ไม่ล่วงโอวาทนั้น ภายหลังได้ครองราชสมบัติใน ๒ แว่นแคว้น” แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
“ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า 'พวกเราพากันย่อยยับอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นี้'
ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้น ย่อมรู้ชัดความหมายมั่นกันและกัน
ย่อมสงบ เพราะการปฏิบัติของชนพวกนั้น”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น