ทุกข์เกิดจากอะไร
ทุกข์มี 2
ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.) ทุกข์ในอริยสัจ 4
2.) ทุกข์ในไตรลักษณ์
ทุกข์ในอริยสัจ 4
ก็คือทุกขเวทนาหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็คือความทุกข์ในความหมายของคนทั่ว
ๆ ไปนั่นเอง ทุกขเวทนามี 2 ทางคือ ทุกข์ทางกาย กับทุกข์ทางใจ
ทุกข์ทางกาย หมายถึงทุกข์ที่มีกายเป็นเหตุ
ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดจากความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ ความบาดเจ็บ ความหิวกระหาย
ความเสื่อมสภาพของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากการที่ต้องคอยประคบประหงม
ดูแลบำรุงรักษาทำความสะอาดร่างกาย และความทุกข์อื่น ๆ อันมีกายเป็นต้นเหตุอีกเป็นจำนวนมาก
ทุกข์ทางกายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับร่างกาย เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก
ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ต้องทนกับทุกข์ทางกายนี้เรื่อยไปไม่มีวันพ้นไปได้
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่สร้างสมบุญบารมีมาอย่างมากมาย
มากกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ยังต้องทนทุกข์ทางกายนี้จนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน
สมกับคำที่ว่า การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป
ทุกข์ทางใจ
หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ
ทุกข์ทางใจนี้ส่วนหนึ่งมีทุกข์ทางกายเป็นสิ่งเร้าให้เกิด เช่น
เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ขึ้นมาทำให้เกิดทุกข์ทางกายขึ้นแล้ว
ต่อมาก็เกิดความกังวลใจ ความหวาดกลัวขึ้นมาอีกว่าอาจจะรักษาไม่หาย
อาจจะต้องสูญเสียอวัยวะไป หรืออาจจะต้องถึงตาย
ซึ่งความกังวลความหวาดกลัวเหล่านี้จะก่อให้เกิดทุกข์ทางใจขึ้นมา
ทุกข์ทางใจอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีทุกข์ทางกายเป็นต้นเหตุ เช่น
ความทุกข์จากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ความทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ
ทุกข์จากการไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ทุกข์จากความโกรธความขัดเคืองใจ
ทุกข์จากความกลัว ทุกข์จากความกังวลใจ ความคับแค้นใจ ทุกข์จากความกลัวว่าความสุขที่มีอยู่จะต้องหมดไป
ทุกข์จากความกลัวความทุกข์ยากลำบากที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต
ทุกข์จากการกลัวความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ และทุกข์ทางใจอื่น ๆ
อีกนับไม่ถ้วน
กล่าวโดยสรุป
ทุกข์ทางใจทั้งหมดล้วนมีต้นเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ และความยึดมั่นถือมั่น .
ทุกข์จากความโลภ
ตามหลักอภิธรรมแล้วความโลภจะไม่ประกอบด้วยความทุกข์
เพราะความโลภจะเกิดขึ้นพร้อมกับความดีใจ หรือเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ (
อุเบกขา ) เท่านั้น ที่กล่าวว่าความทุกข์ที่มีต้นเหตุมาจากความโลภในที่นี้
ไม่ได้หมายความว่าความทุกข์นั้นเกิดพร้อมกับความโลภ แต่เป็นความทุกข์อันมีความโลภเป็นเบื้องต้น
และมีความทุกข์เป็นเบื้องปลาย อันได้แก่
ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวจะไม่ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้
ทุกข์จากการที่ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้ เป็นต้น
ทุกข์จากความโกรธ
ความโกรธนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็นำทุกข์มาให้เมื่อนั้น
เพราะความโกรธจะทำให้จิตใจต้องเร่าร้อนดิ้นรน เกิดความกระทบกระทั่งภายในใจ
ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ความโลภนั้นในเบื้องต้นยังพอจะนำความสุขมาให้ได้บ้าง (
ในขณะที่เกิดความเพลิดเพลินยินดี )
แต่ความโกรธนั้นนำมาแต่ความทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ตัวอย่างของความทุกข์จากความโกรธเช่น ทุกข์จากความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ คับแค้นใจ
กังวลใจ ความกลัว ความหวาดระแวง ความมองโลกในแง่ร้าย ความไม่สบายใจ ความอิจฉาริษยา
ความพยาบาทอาฆาตแค้น เป็นต้น
ทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่น
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายจิตใจก็ตาม
ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วก็ล้วนนำทุกข์มาให้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะยึดว่าเป็นเรา
เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ยึดว่าเป็นเขา เป็นของของเขา
ยึดว่าเป็นสิ่งที่เราชอบใจ เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ยึดว่าเป็นคนที่เคยทำร้ายเรา
เคยด่าเรา ยึดว่าเป็นญาติพี่น้อง เป็นศัตรู เป็นครูอาจารย์
เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ยึดว่าเป็นนาย เป็นบ่าว เป็นเพื่อน เป็นหน้าที่การงาน
ฯลฯ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่นำทุกข์มาให้ แม้แต่ยึดในบุญกุศล
ความดี มรรค ผล นิพพาน ก็ตามที ( อริยบุคคลนั้นไม่ยึดในรูปนามทั้งหลาย
ไม่ยินดีในการเกิดก็จริง แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นในมรรค ผล นิพพาน )
เพราะการยึดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจก็ย่อมจะทำให้เกิดความขัดเคืองใจ
โกรธ ไม่พอใจ คับแค้นใจ กลัว ฯลฯ พูดง่าย ๆ
ก็คือเป็นต้นเหตุของความทุกข์จากความโกรธนั่นเอง ส่วนการยึดในสิ่งที่เราชอบใจก็จะทำให้เกิดทุกข์อันมีต้นเหตุมาจากความโลภ
นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดทุกข์จากความกลัวการพลัดพรากสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป
ทุกข์จากการต้องคอยทนุถนอม บำรุงรักษา เก็บรักษาไว้ ต้องคอยปกป้อง ห่วงใย
ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ไม่เป็นอิสระ และถ้าต้องสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปก็จะยิ่งเป็นทุกข์ขึ้นไปอีกมากมายนัก
ส่วนการยึดในบุญนั้นก็ต้องเป็นทุกข์จากการรอคอยว่าเมื่อไรผลบุญถึงจะตอบสนอง
ยึดในบาปก็เป็นทุกข์กลัวกรรมจะตามสนอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ
ยึดสิ่งไหนก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลยความทุกข์ทางใจทั้งหลายก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เลย
.
ทุกข์ในไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็คือสามัญลักษณะ 3
ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คำว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ก็หมายถึงทุกขัง
ในไตรลักษณ์หรือที่เรียกว่าทุกขลักษณะนั่นเอง
ซึ่งหมายถึงการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงยกเว้นนิพพาน ล้วนอยู่ในสภาวะที่ถูกเหตุถูกปัจจัยทั้งหลาย
บีบคั้นให้แปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป
(ดูเรื่องทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)
ทุกข์ในไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะอันเป็นสามัญ
คือเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารธรรมทั้งหลายที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น
เป็นกฎอันเป็นพื้นฐานของธรรมชาติ
เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยเท่านั้นเอง
ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีอำนาจเหนือตน ตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่สภาวะแห่งนิพพานแล้ว
ก็จะต้องเผชิญกับทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ด้วยกันทั้งสิ้น
ทุกข์ในอริยสัจ 4 ก็อยู่ในสภาวะทุกข์ในไตรลักษณ์ด้วย
นอกจากนี้สุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในไตรลักษณ์
เพราะทั้งสุขและอุเบกขาก็ล้วนถูกเหตุปัจจัยต่าง ๆ
บีบคั้นให้แปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
บทความคัดลอก
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น