วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โสฬสญาณ 16







โสฬสญาณ 16

ญาณ16 หรือ โสฬสญาณ เป็นการรวบรวมลำดับญาณขึ้นในภายหลังโดยพระอรรถกถาจารย์ เพื่อเป็นการจำแนกให้เห็นลำดับญาณหรือ ภูมิรู้ภูมิธรรมทางปัญญาที่เกิดขึ้น (เท่าทีผมได้เคยศึกษาจากพระอาจารย์ จริงๆแล้วคือ ลำดับความคิดในการ บรรลุธรรม หรือ พูดง่ายๆว่า คนที่จะบรรลุ ธรรม ณ ขณะนั้น เค้าจะต้องผ่านระดับความคิดเหล่านี้ จริงๆ ตามที่ พระพุทธเจ้าเคย กล่าวไว้จะมีเพียง โสฬสญาณ 9 แต่พระ สารีบุตร ได้ทำการจำแนกให้ละเอียด และขออนุญาติ จากพระพุทธเจ้า แล้ว กลายเป็น โสฬสญาณ 16)

 ญาณที่ 1 เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง รูปธรรมนามธรรม คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ 2 อย่าง คือเห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง

 ญาณที่ 2 เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม คือจะเห็นว่า รูปนามนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัย กันเช่นขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต  จิตปรารถนาจะให้กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน คือลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป นามคือจิตใจเป็นปัจจัยให้เกิดรูป (ที่เคยได้ฟังพระอาจารย์ ขออนุญาติเสริม ท่านกล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้เราควรจะคิดว่าอะไรเป็ฯสาเหตุให้เราเกิดแก่เจ็บตาย มาจาก 1.อวิชา 2.อุปทาน 3.ตัณหา 4. กรรม อวิชาคือการที่เราไม่รู็ ไม่รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ เช่น เรารักคนๆนึงมาก ยึกติดในเค้ามาก เราไม่รู้เท่าทันกิเลสที่อยากครอบครองตัวเค้า อุปทาน การยึดติด เรายึดมั่นถือ มั่นว่าบุคคล ผู้นั้นเป็นของเราคนเดียวจะ เป็ฯของผู้อื่นไปไม่ได้ เมือเกิด คนรักนอกใจ เราก็เกิด ตัณหา ต่างๆ โกรธ แค้น หรือ อะไรก็ตามแต่ ส่งผลให้เราไปทำกรรม แล้วกรรมนี้ละที่ทำให้เราต้องมาเกิด ท่านว่า พระอรหันต์ ท่านปราศจากกรรมดี และกรรมชั่ว)

ญาณที่ 3 สัมมสนญาณ ในสมมสนญาณนี้ก็เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปนาม เห็นทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิม ไม่ได้ของรูปนาม เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนาม แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในญาณที่ 3 นี้ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปน ยังมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังมา เอาจินตามยปัญญาความตรึกนึกคิดมาปนอยู่ด้วย   ญาณที่ 4 คือ อุทยัพพยญาณ ในอุทยัพพยญาณนี้ ก็แบ่งเป็น 2 ตอนเป็น ตรุณอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง กับเป็น พลวอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง คือ เป็นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน กับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ ญาณ ที่ 4 อย่างอ่อน คือตรุณอุทยัพพยญาณนี้ ก็จะทำให้เกิด วิปัสสนูปกิเลสขึ้น ที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง วิปัสสนูปกิเลส (จริงๆวิปัสสนูกิเลสมี10ตัว และหลายตัวอาจทำให้เราเข้าใจผิดว่าเราบรรลุธรรม เรื่องนี้เกิดขึ้นใน หมู่ พระ เลยขอแถมไว้ให้ข้างล่างนะครับ) คือกิเลสที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง คือทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้น จะไม่ก้าวหน้า ส่วนใน ญาณที่ 4 อย่างแก่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม มีความบริสุทธิ์ของการเห็น เห็นรูปเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

 ญาณที่ 5 เรียกว่า ภังคญาณ ในภังคญาณนี้จะเห็นแต่ฝ่ายดับ เห็นรูปนามนั้นดับไป ดับไปด้วยความเร็วเพราะรูปนามเกิดดับรวดเร็วถี่มาก (เวลาเราพูดถึงการดับ เราลอง พิจารณาดู เรารักแฟนเรามาก มีความสุขกับคนที่เรารักมาก เมื่อเราต้องเสียเค้าให้คนอื่น เมื่อเค้าอาจจะต้องตายจากเราไป เรารักพ่อแม่มาก แต่สักวันพ่อแม่ก็ต้องจากเราไป เรารักเงินมาก สักวันเงินเราอาจจะหมดไป เรารักชื่อเสียงเรามาก สักวันชื่อเสียงก็อาจจะหมดไป การดับลงในสิ่งต่างๆเวลาเรายึดมั่นอะไร มันไม่ได้สร้างความสุข มันมีแต่จะให้ความทุก ทุกวันนี้เรากำลังใช้ชีวิตเพื่อที่จะเจอแต่ความทุกข์ในวันจ้างหน้า ก็จะส่งให้เราไปญาณ ถัดไป)

 ญาณที่ 6 เรียกว่า ภยญาณ จะเห็นรูปนามที่มันดับไปนั้นแต่เกิด ความรู้สึกขึ้นในใจว่าเป็นภัยเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นภัย ก่อนนั้นเคยหลงไหล  แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นภัย

 ญาณที่ 7 อาทีนวญาณ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ ในขณะที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก

 ญาณที่ 8 คือ นิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณนี้จะรู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อรูปนามเป็นภัยเป็นโทษมันก็รู้สึกเบื่อหน่ายไม่ได้ติดใจเลยในรูปนาม นี้ มันน่าเบื่อจริงๆ แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงดูต่อไป แต่บางคนก็อาจจะเลิกรา เบื่อมากๆ เข้า เมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 9 (พระอาจารย์กล่าวว่า ต้องระวัง บางคนฆ่าตัวตายก็มี เพราะเราจะเบื่อมากจริงๆ แล้วถ้าเรายังไม่เบื่อจริงๆ ยังเบื่อๆอยากๆ เราจะไม่ผ่าน ญาณนี้ ต้องไปเดิน ญาณขึ้นมาใหม่ )

 ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ มีความรู้สึกใคร่จะหนีให้พ้น เมื่อมันเบื่อแล้วก็ใคร่จะหนี มีความรู้สึกอยากจะหนีไป เหมือนบุคคลที่อยู่ในกองเพลิง  มันก็อยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้ จากนั้นเมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 10

 ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ ในปฏิสังขาญาณนี้มันจะหาทางว่าทำอย่างไร ถึงจะพ้นได้ ในเมื่อตอนแรกมันใคร่จะหนี พอถึงญาณอันนี้ก็หาทางที่ จะหลุดพ้นให้ได้ เมื่อเพียรพยายามต่อไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ 11

 ญาณที่ 11 สังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้ มีลักษณะวางเฉยต่อรูปนาม คือเมื่อกำหนดรู้ หาทางหนี หนีไม่พ้น ยังไงก็หนีไม่พ้น  ก็ต้องดูเฉยอยู่ การที่ดูเฉยอยู่นี้ทำให้ สภาวจิตเข้าสู่ความเป็นปกติในระดับสูง ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป บุคคลทั่วไปเวลาเกิดเห็น  ทุกข์เห็นโทษเห็นภัยนี้สภาวะของจิตใจจะดิ้นรนไม่ต้องการ จะกระสับกระส่ายดิ้นรน แม้แต่ในวิปัสสนาญาณก่อนหน้าสังขารุเปกขาญาณ ก็ยังมีลักษณะความดิ้นรนของจิต คือยังมีความรู้สึกอยากจะหนี อยากจะให้พ้นๆ สภาวะของจิตยังไม่อยู่ในลักษณะที่ปกติจริงๆ มันก็หลุดพ้นไม่ได้  แต่เมื่อมันดูไปจนถึงแก่กล้าแล้วไม่มีทางก็ต้องวางเฉยได้ ซึ่งในขณะที่เห็นความเกิดดับเป็นภัยเป็นโทษน่าเบื่อหน่ายอยู่อย่างนั้นมันก็ ยังวางเฉยได้ แม้จะถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส แทบจะขาดใจมันก็วางเฉยได้ เมื่อวางเฉยได้มันก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 12 (พระอาจารย์กล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะผ่าน ญาณนี้ได้ต้องบำเพ็ญเพียรมาเพียงพอ  คนที่ผ่าน ญาณนี้ไป คือการบรรลุธรรมแล้วแน่นอน แต่จะ บรรลุเป็น พระโสดาบัน เป็น ต้น ผู้ที่จะผ่านญาณนี้ได้ ท่านว่า ต้องประกอบไปด้วย อินทรีย์ 5 พร้อม คือ สติ ปัญญา สมาธิ ศรัทรา วิริยะ อย่างสมดุล ก็จะผ่านไปได้ ปัญญา กับ ศรัทราจะต้องมีพอๆกัน ถ้า ปัญญามาจะมีคำถามไม่สิ้นสุด ถ้าศรัทรามากไป ก็จะ ไม่ใช้เหตุผลเลย ส่วน คู่ของ สมาธิ และ วิริยะ ถ้าพยายามมากไปก็จะเป็ฯเหมือน ท่านพระอานนท์ ที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ แต่พอเอียงตัวกำลังจะนอน บรรลุธรรม ถ้า สมาธิมากไป ก็จะเอาแต่ กรรมฐานอย่างเดียว เพราะ ใครที่นั่งสมาธิ เข้าถึงระดับแล้ว จะเป็นสุขที่เหนือ กามมาสุข ก็จะนั่งสมาธิอย่างเดียวเราต้อง วิปปัสนาด้วย ท่านกล่าวอย่างนี้)

 ญาณที่ 12 อนุโลมญาณ เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ที่จะสอดคล้องต่อไปในโลกุตตรญาณ จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 13 เรียกว่า โคตรภูญาณ

 ญาณที่ 13 โคตรภูญาณ คือญาณที่มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้นจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูปนามไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าโคตรภูญาณยังเป็นโลกิยะอยู่ ตัวมันเองเป็นโลกิยะ แต่มันไปมีอารมณ์เป็นนิพพาน แล้วจากนั้นก็จะเกิดมัคคญาณขึ้นมา (ที่ญาณนี้ ท่านว่าจะมีปฏิหาร เกิดกับร่างกายบุคคลผู้นั้น เพราะ ร่างกายมนุษย์ ธรรมดา ไม่สามารถ รองรับความเป็น อริยะได้ เป็นการบอกให้รู้ว่าท่านบรรลุแล้วจริงๆ)

 ญาณที่ 14 มัคคญาณ มัคคญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัยกิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค 8 มีการประชุมพร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์

 ญาณที่ 15 ผลญาณ ผลญาณเป็นโลกุตตรญาณ เกิดขึ้นมา 2 ขณะ เป็นผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์ 2 ขณะ แล้วก็ดับลง (แล้วเราจะได้ โลกุตลสุข อยู่กับเราไปจนตาย)

 ญาณที่ 16 ปัจจเวกขณญาณ ญาณพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นโลกิยญาณ ญาณพิจารณา เหมือนคนที่ผ่านเหตุการณ์อะไรมา ก็จะกลับพิจารณาสิ่งที่ผ่านมา แต่ญาณนี้ พิจารณามรรคที่ตนเองได้ พิจารณาผลที่ตนเองได้ พิจารณาพระนิพพาน และถ้าคนมีหลักปริยัติ ก็จะพิจารณากิเลสอันใดที่ละไปได้แล้ว กิเลส อันใดที่ยังเหลืออยู่ และถ้าคนไม่มีหลักปริยัติก็พิจารณาแค่ มรรค ผล นิพพาน ในระหว่างที่ญาณก้าวขึ้นสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านก็อุปมาให้ฟังเหมือนกับบุคคลที่จะก้าวกระโดดข้ามฝั่ง

 แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง 9 ขั้น หรือเรียกว่า วิปัสสนาญาณ9 นั้น เป็นการจำแนกแตกธรรม ที่จัดแสดงเน้นว่าญาณใดใน โสฬสญาณทั้ง 16 ข้างต้น ในส่วนที่เป็นวิปัสสนาหรือการปฏิบัติหรือวิธีการเรืองปัญญาในการดับ ทุกข์ กล่าวคือ ข้อ 4- 12 ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ นั้นเอง

ข้อมูลส่วนหนึ่ง จาก หนังสือ วิปัสสนาภูมิ พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)   อ้างอิงจาก http://www.dharma.in.th/   ๑.โอภาส ได้แก่ วิปัสสโนภาส เห็นแสงสว่างมากมายเต็มไปหมด บางคนเห็นห้องที่ตนนั่งอยู่สว่างไสวไปทั้งห้อง หรือสถานที่ที่ตนบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่สว่างไสวไปทั่วบริเวณ บางทีเห็นแสงสว่างไปจนสุดสายตา ถ้าโยคีมีมนสิการไม่ดีก็จะเข้าใจผิดคิดไปว่าตนได้สำเร็จแล้ว คือบรรลุมรรค,ผลญาณแล้ว เกิดความยินดีชอบใจเป็นหนักหนา แล้วก็เลยนึกถึงบุญบารมีของตนเองว่า ตนเป็นคนมีวาสนาบารมีสูง จึงได้ประสบพบเห็นสิ่งที่คนธรรมดาสามัญไม่อาจเห็นได้ ถ้าเรียกสั้นๆคือ ใจสว่างที่เกิดขึ้นเพราะวิปัสสนา

 

๒.ญาณ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาในการบำเพ็ญวิปัสสนา กำหนดรูป,นาม ได้คล่องแคล่วว่องไวอย่างประหลาด ผิดกว่าแต่ก่อนซึ่งเคยกำหนดด้วยความยากลำบาก แม้จะอุตสาหะระมัดระวังก็ยังพลั้งเผลอบ่อยๆต้องตั้งใจอย่างเคร่งครัด แต่บัดนี้การกำหนดดูคล่องแคล่วว่องไวไปหมด ที่เคยทำไม่ได้ก็ทำได้อย่างสะดวกสบาย ระยะนี้ถ้ามนสิการไม่ดีก็จะเข้าใจผิดนึกไปเองว่า ตนคงสำเร็จแล้ว เพราะสามารถกำหนดได้สะดวกยิ่งนัก ถ้าเป็นอย่างนี้อาจารย์จะให้กัมมัฏฐานเพิ่มสักเท่าไหร่ก็ไม่กลัว อาจารย์ของตนตอนปฏิบัติจะกำหนดได้ดีเหมือนอย่างนี้หรือไม่หนอ คงไม่ได้แน่ๆ บางรายก็เกิดสงสัย อาจารย์จะให้กัมมัฏฐานผิดเสียแล้ว เพราะดูง่ายเกินไป ถ้าตนได้เป็นอาจารย์เมื่อไร จะต้องคิดตั้งบทกัมมัฏฐานให้แนบเนียนกว่านี้ เพราะอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ง่ายเกินไป มีการดูถูกอาจารย์อย่างรุนแรง เพราะเกิดปัญญามากมายเสียเหลือเกิน เรียกสั้นๆคือ ปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะวิปัสสนา

๓.ปีติ ได้แก่ วิปัสสนาปีติ รู้สึกเยือกเย็นขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก บางทีเกิดซาบซ่าไปทั้งตัว บางทีทำให้ตัวเบาลอยก็ได้ คือเกิดความรู้สึกตัวลอยขึ้นคืบหนึ่งบ้าง บางทีลอยไปไกลๆก็มี

ปีติมี ๕ ประการ คือ

๑. ขุททกาปีติ

๒. ขณิกาปีติ

๓. โอกกันติกาปีติ

๔. อุพเภงคาปีติ

๕. ผรณาปีติ

 

ปีติทั้ง ๕ ประการนี้ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน ถ้าโยคีมนสิการไม่ดีก็ทำให้สำคัญผิด เช่นเดียวกับวิปัสสนูปกิเลสข้อต้นๆเพราะเป็นปีติที่ไม่เคยพบพานมาก่อนเลยในชีวิต เรียกสั้นๆคือ ความอิ่มใจที่เกิดขึ้นเพราะเจริญวิปัสสนา

๔.ปัสสัทธิ ได้แก่ วิปัสสนาปัสสัทธิ เกิดความสงบทั้งกายและใจ รู้สึกเย็นไปทั้งร่าง ตัวเบา ไม่หนัก ไม่แข็งกระด้าง อ่อนสลวย ทุกขเวทนาไม่มีเลย แม้ใจก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตสงบ จิตเบา จิตอ่อน และจิตตรง เป้นความสงบอย่างยิ่ง เสวยความยินดีอย่างที่มนุษย์ธรรมดาสามัญไม่เคยพบ มีสาธกพยานว่า

 

สูญฺญาคารํ ปวิฏฺฐสฺส สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขุโน อมานุสี รตี โหติ สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต ยโต สมฺมสติ ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ ลภเต ปีติปามุชฺชํ อมตํ ตํ วิชานตํ.

ภิกษุผู้เข้าไปอยู่เรือนว่าง เห็นแจ้งธรรมด้วยดี ย่อมประสบความยินดีที่มนุษย์ธรรมดาสามัญไม่อาจพบได้ ขณะที่ถึงอุทยัพพยญาณย่อมพบความปีติปราโมทย์ ฉะนั้นเป็นอมฤติสำหรับผู้ใดได้เห็นแจ้งอยู่ เรียกสั้นๆ คือ ความสงบทั้งร่างกายและจิตใจอันเกิดขึ้นเพราะวิปัสสนา

๕.สุข ได้แก่ วิปัสสนาสุข คือ สุขที่เกิดขึ้นในวิปัสสนา สุขชนิดนี้เป็นสุขที่ละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่ง ซึมซาบไปตลอดทั่วร่างกายอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เป็นสุขท่วมท้นหัวใจ ไม่สามารถที่จะบรรยายให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นสุขที่มีรสล้ำลึกแปลกประหลาด เป็นสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น สรุปว่า บรรดาความสุขทั้งหลายแล้ว อะไรจะมาสุขเท่าวิปัสสนาสุขไม่มี ฉะนั้น ถ้ามนาสิการไม่ดีก็จะทำให้โยคีเข้าใจผิดดังกล่าวมาแล้ว เรียกสั้นๆ คือ สุขอันละเอียดสุขุม มีรสล้ำลึก ซาบซ่าน อันเกิดขึ้นเพราะวิปัสสนา

๖. อธิโมกข ได้แก่ ศรัทธา คือเกิดศรัทธาขึ้นมามากมาย เป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เพราะจิตและเจตสิกผ่องใสเป็นอย่างยิ่งด้วยอำนาจศรัทธากล้า พาให้นึกคิดไปใหญ่โต เช่น คิดถึงคนทั้งหลายอยากให้เขาได้เข้ากัมมัฏฐานอย่างตนบ้าง เป็นต้นคนที่รักใคร่ชอบ บิดา มารดา อุปัชฌาอาจารย์ อันศรัทธาชนิดนี้มีความรุนแรงมาก ขนาดที่ว่าแม้ท่านผู้มีพระคุณเหล่านั้นได้ตายไปแล้ว ตนก็แทบจะไปขนกระดูกท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเหมือนตนบ้างทีเดียว เมื่อนึกใกล้เข้ามาถึงอาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐานแก่ตนในปัจจุบัน ก็เกิดว่าตนได้พบเห็นธรรมะได้รับความสุขอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะได้อาจารย์ช่วยแนะนำสั่งสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แต่บัดนี้เชื่อจริงๆ ถ้าทำกุศลใดๆในภายหน้า ก็จะทำเฉพาะกุศลที่เกี่ยวกับวิปัสสนานี้ เพราะได้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติ ถ้าโยคีผู้นั้นเป็นบรรพชิตก็เกิดคิดวางแผนการณ์สร้างมโนภาพว่า เมื่อตนสำเร็จออกจากกัมมัฏฐานไป จะต้องไปหาที่ที่เหมาะตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น แล้วตั้งตัวเองเป็นอาจารย์สั่งสอนให้คนทั้งหลายได้รู้จักพระศาสนาที่ถูกต้อง ว่าประโยชน์ที่แท้จริงคือการวิปัสสนานี้เอง คนทั้งหลายยังดง่มากที่ไม่รู้จักปฏิบัติอย่างที่ตนกำลังทำอยู่นี้ เป็นที่น่าสงสาร ฉะนั้น จะต้องช่วยเขาไม่ให้หลงผิด จะได้พ้นทุกข์ เมื่อคิดเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้า โยนั้นก็เลยลืมมูลกัมมัฏฐานคือ การตั้งสติกำหนด ทำให้กัมมัฏฐานรั่ว คือบกพร่อง อันที่จริงความศรัทะที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นของดีเพราะเป็นศรัทธาที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งคนธรรมดาจะเกิดศรัทธาขนาดนี้ไม่ได้ แต่ที่จะเป็นวิปัสสนูปกิเลสก็เพราะว่า เมื่อจิตเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธา ก็ทำให้ละเลยมูลกัมมัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนด ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา และเมื่อมนสิการไม่ดี มีตัณหา,มานะ,ทิฏฐิเข้ามาประสมด้วย ก็จะทำให้การบำเพ็ญซัดส่ายยิ่งขึ้น ไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร เรียกสั้นๆคือ ศรัทธาอันมีกำลังแก่กล้า ซึ่งเกิดขึ้นเพราะวิปัสสนา

๗.ปัคคหะ ได้แก่ วิริยะ เกิดขยันขึ้นอย่างผิดปกติ พยายามในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก่อนแม้อาจารย์จะคอยตักเตือนให้พยายามทำความเพียร ก็รู้สึกว่ายาก เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย จนเกือบจะตายอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้จะเหมือนกับตน อาจารย์ก็คอยจู้จี้เคี่ยงเข็ญตลอดเวลา แต่บัดนี้ ความคิดเช่นนี้หายไปสิ้น เกิดความขยันขึ้นเป็นพิเศษ จนทำให้ตัวเองแปลกใจว่า เหตุใดตนจึงได้มีวิริยะมาก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติเช่นนี้ และเมื่อมนสิการไม่ดี ก็จะเข้าใจตนเองผิดไปว่า ได้มรรค,ผล,นิพพานแล้ว จึงเป็นวิปัสสนูปกิเลส เรียกสั้นๆคือ วิริยะ คือความเพียรอย่างแรงกล้า อันเกิดขึ้นเพราะอำนาจวิปัสสนา

๘.อุปัฏฐาน ได้แก่ สติ เกิดมีสติดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้การกำหนดได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เคยกำหนดได้ยากหรือต้องขืนใจกำหนด มาบัดนี้กำหนดได้อย่างคล่องแคล่ว จนตัวเองแปลกใจว่า สติช่างดีพร้อมไปเสียทุกอย่าง ทุกขณะทุกอริยบถกำหนดได้ทั้งนั้น เพราะสติตั้งมั่นไม่โยก ไม่คลอน ไม่หวั่นไหว ไม่เผลอ ซึ่งแต่ก่อนมาไม่เคยเป็นอย่างนี้เลย ถ้ามนสิการไม่ดี ก็จะเกิดสงสัยตนผิดไปว่า ทำไมตนมีสติดีขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาแต่ก่อน หรืออาจจะพบธรรมวิเศษแล้วก็ได้ เรียกสั้นๆคือ สติอันยอดยิ่ง ว่องไว ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอำนาจวิปัสสนา

๙.อุเปกขา ได้แก่ วิปัสสนูเปกขา เกิดความวางเฉยในสังขารอารมณ์ทั้งปวง ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่งเหมือนคนไม่มีกิเลส ไม่สะดุ้งสะเทือนต่ออารมณืทุกชนิด เป็นอุเปกขาที่มีกำลังแรงกล้า แม้จะมีอารมณ์ใดมากระทบก็ไม่หวั่นไหว วางเฉยเสียได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจในภาวะที่เปลี่ยนแปรไปเช่นนี้เป็นยิ่งนัก ถ้ามนสิการไม่ดี ก็ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะวางเฉยได้ ไม่ยินดียินร้ายอะไรเลย ความหมดกิเลสได้มรรค,ผล,นิพพานเป็นอย่างนี้เองหนอ นี้เนื่องจากมี ทิฏฐิเข้ามาแทรก และยังคิดต่อไปอีกว่า ตนมีบุญวาสนามาก ปฏิบัติไม่นานเท่าใดก็ได้มรรค,ผลง่ายๆ ไม่มีใครจะเหมือนตน นี้เนื่องจากว่า มานะเข้ามาแทรก และยังคิดต่อไปอีกว่าตนสบายแล้ว ไม่ต้องยินดียินร้ายอะไรทั้งหมดอีกต่อไป ถึงออกจากกัมมัฏฐานแล้ว ก็จะอยู่ในโลกนี้อย่างสงบไม่ต้องรัก ไม่ต้องชัง ไม่ต้องดีใจ เสียใจให้วุ่นวาย เหมือนคนทั้งหลายที่กำลังเป็นกันอยู่ นี้เรียกว่า ตัณหาเข้าแทรก

รวมความว่า อุเปกขานี้แท้จริงเป็นของดี แต่ถ้ามนสิการไม่ดี มีตัณหา,มานะ,ทิฏฐิเข้ามาแทรก ก็จะกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปเลย เรียกสั้นๆคือ มีความวางเฉยในสังขารและอารมณืทั้งปวง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา

๑๐.นิกันติ ได้แก่ วิปัสสนานิกันติ คือ ความใคร่ ความต้องการ ยินดี ติดใจ ขอบใจในคุณพิเศษทั้ง ๙ ประการ คือ ตั้งแต่ โอภาส จนถึง อุเปกขา ความสำคัญของวิปัสสนูปกิเลส ข้อนี้ จะได้อธิบายในบทหน้า เรียกสั้นๆคือ ความพอใจ ความต้องการ ความยินดี ความติดใจ ความชอบใจ ในคุณวิเศษทั้ง ๙ ประการและอารมณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ วิปัสสนา

 

วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้แก่โยคีผู้ปฏิบัติทุกคน เมื่อบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ฉะนั้น พอถึงระยะนี้ วิปัสสนาจารย์พึงคอยตักเตือนให้สติ อย่าให้โยคีหลงผิดอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเป็นอันขาด ควรดุก็ต้องดุ ควรว่าก็ต้องว่า อย่าได้เกรงใจเลย ต้องมุ่งประดยชน์เบื้องหน้าของโยคีเป็นสำคัญ

มีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ วิปัสสนูปกิเลสบางข้อ มีสภาวะคล้ายๆกับ โคตรภูญาณ,มรรคญาณ,ผลญาณ ความคล้ายๆกันเป็นเหตุทำให้เข้าใจผิด จะได้กล่าวถึงในข้างหน้าเมื่อถึงสภาวะจริงๆของญาณนั้นๆ มิใช่แต่โยคีจะเข้าใจผิด แม้แต่อาจารย์เองก็อาจเข้าใจผิดไปด้วย คือ เมื่อโยคีเล่าให้ฟังถึงสภาวะที่เกิดขึ้นกับตน ซึ่งคล้ายสภาวะของ โคตรภูญาณ,มรรคญาณ,ผลญาณเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์มิได้พิจรณาให้ดี ไม่รอบคอบ ยินดีว่า ศิษย์ของตนได้บรรลุถึงผลสูงสุดของการปฏิบัติแล้ว จึงตัดสินใจให้โยคีบุคคลนั้นเลิกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงว่าระยะที่แล้วลูกศิษย์ของตนได้ผ่านญาณอะไรมาบ้างแล้ว และจะต้องผ่านญาณใดอีกต่อไปอีก ไม่ได้สอบสวนผลลำดับญาณให้ถูกต้อง ด่วนตัดสินง่ายๆเช่นนี้เป็นอันตรายแก่โยคีผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดับมรรคดับผลโดยตรงทีเดียว ฉะนั้น วิปัสสนาจารย์พึงระวังวิปัสสนูปกิเลสนี้ให้มาก เพราะเคยทำให้ทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์พากันกอดคอตกลงไปในห้วงเหวแห่งความเข้าใจผิดมามากต่อมากแล้ว รวมความว่า ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณนี้ มี วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ โยคีมากคนก็พูดมากอย่างตามอาการต่างๆของวิปัสสนูปกิเลสนั้น แต่ข้อสำคัญต้องให้ได้ลักษณะ คือ รูป,นามเกิดดับเร็วๆก็เป็นอันใช่ อุทยัพพยญาณ อย่างแน่นอน

 


 

0 ความคิดเห็น:

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More