"ปรีดิยาธร"ไม่ห่วงผลขาดทุนธปท. ย้ำแค่บัญชี ด้าน"ณรงค์ชัย"ย้ำนโยบายกรอบเงินเฟ้อดูเศรษฐกิจภาพรวม ขณะที่"ธีระชัย"ระบุให้ธปท.ทำความเข้าใจสังคม
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่า การขาดทุนของ ธปท.นั้นในความเห็นเขาแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำหน้าที่ แต่อย่างใด เพราะผลขาดทุนส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนทางบัญชีที่แปลงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท
"แบงก์ชาติ มีสินทรัพย์ในรูปของดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทแล้ว ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แบงก์ชาติย่อมมีผลขาดทุน แต่ไม่ได้หมายความว่า สินทรัพย์ที่แบงก์ชาติถืออยู่ในรูปดอลลาร์จะด้อยค่าลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ อยากเสนอให้แบงก์ชาติ ทำบัญชีในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาอีกบัญชีเพื่อใช้ดูเปรียบเทียบ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
เขากล่าวว่า ถ้าดูพันธกิจของ ธปท.นั้น มีหน้าที่หลักคือ ดูแลเสถียรภาพด้านราคา แต่ทั้งนี้ ธปท.ควรคำนึงถึงเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นประเทศไทย ควรเลิกถกเถียงกันเรื่องการทำนโยบายการเงินได้แล้วว่า ระหว่างกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) กับอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน เพราะประเทศไทยใช้ทั้ง 2 ส่วนผสมผสานกัน
สำหรับประเด็นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ค่อนข้างเป็นห่วงคือ การทำหน้าที่ของธนาคารรัฐที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ เพราะเกรงว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะกลายเป็นหนี้สาธารณะของประเทศได้
"เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องจี้ให้ระวังตัวกัน เพราะปัจจุบันมีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหนึ่งแห่งที่กู้หนี้จากธนาคารกรุงไทยจำนวนมาก และเริ่มที่จะใช้ไม่ไหวแล้ว ซึ่งถ้าหนี้ธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ปล่อยไปเป็นปัญหา สุดท้ายก็มาโผล่ที่หนี้สาธารณะของประเทศ ดังนั้น เราต้องเตรียมใจว่าหนี้สาธารณะวันหนึ่งมันอาจเพิ่มขึ้น"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
นอกจากนี้ อยากให้ธปท.หันมาให้ความสำคัญกับพอร์ตลงทุนของธนาคารพาณิชย์ด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่ากรณีการล้มของ เลห์แมน บราเธอร์ส ไม่ได้เกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ดี แต่เกิดจากการขาดทุนของพอร์ตการลงทุน จึงไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาธปท.ให้ความสำคัญกับพอร์ตลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยมากน้อยแค่ไหน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่คิดว่าประชาชนทั่วไปอยากเห็นจากธปท.คือ เป็นองค์กรที่สามารถพึ่งพาได้ในเรื่องเศรษฐกิจ สามารถดำเนินนโยบายที่จะป้องกันปัญหาหรือช่วยจัดการหากเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันอยากให้ธปท.บริหารจัดการค่าของเงินบาทไม่ให้เสื่อมค่าลง โดยต้องทำควบคู่กับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ และสุดท้ายคืออยากเห็นสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง
ธปท.ขาดทุนเหตุเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขาดทุนของธปท.ถือว่าไม่มีความสำคัญมากนักถ้าเป็นการขาดทุนเพื่อดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบการเงิน อีกทั้งการขาดทุนส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนทางบัญชี แม้จะมีส่วนที่ขาดทุนจริงอยู่บ้างจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่มากกว่าดอกเบี้ยรับ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการที่ธปท.ไม่เข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนมากจนเกินไป
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.นั้น ช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้ค่อนข้างดีแม้จะมีต้นทุนที่เกิดจากการดำเนินการบ้างก็ตาม และแม้ปัจจุบันธปท.จะดำเนินนโยบายโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ดูเฉพาะเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ดูปัจจัยอื่น เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจประกอบด้วย
"กนง.ไม่ได้ยึดแค่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก เพราะนโยบายการเงินต้องดูเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นในเรื่องการเติบโตเราก็ดูด้วย และการพิจารณาของกนง.ก็พิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย รวมไปถึงสินเชื่อ พวกนี้เราดูหมด"นายณรงค์ชัย กล่าว
สำหรับเรื่องธนาคารเฉพาะกิจของรัฐนั้น เขากล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความห่วงใย เพราะที่ผ่านมาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐถูกนำไปใช้ตอบสนองนโยบายรัฐในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้อาจมีคำถามตามมาว่า กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่ถ้าธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินโดยรวม แล้วธปท.จะสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่
ส่วนการทำนโยบายการเงินด้วยการพิมพ์เงินนั้น เขากล่าวว่า ตั้งแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มายังไม่เคยเห็นประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่าประเทศที่ดำเนินนโยบายการเงินด้วยการพิมพ์เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนใหญ่แก้ปัญหาจนเศรษฐกิจจริงพังทุกราย
ชี้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนไม่เหมาะศก.ไทย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงปัญหาการขาดทุนของธปท.ว่าการดำเนินนโยบายของธปท.ไม่ควรห่วงเรื่องการขาดทุน หรือหาทางแก้ปัญหา เพราะเป็นการขาดทุนจากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งก่อให้เกิดผลดีกับเศรษฐกิจมหาศาล โดยผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันและผลผลิตของภาคเอกชนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการขาดทุนของธปท.
นอกจากนี้โครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัยทำให้แนวโน้มการลงทุนในอนาคตจะลดลงเมื่อถึงจุดนั้นเงินบาทจะอ่อนค่าลงและธปท.จะพลิกมาเป็นกำไรได้ อย่างไรก็ตามธปท.ต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนจะเป็นการดีที่สุดขณะเดียวกันต้องบริหารทุนสำรองให้มีความเสี่ยงน้อย เช่นหากนำไปลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเอเชียที่ออกโดยรัฐบาลหรือกองทุนเฉพาะกิจก็จะเป็นการจัดการทุนสำรองที่มีผลตอบแทนสูง
นายธีระชัย ยังกล่าวว่า การกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่มีการนำเข้าเพียง 70% ของจีดีพี ต่างจากสิงคโปรที่มีกว่า 180 % ของจีดีพี ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ที่ภาคเอกชนไม่ใช่ขึ้นกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธปท.หรือการทำให้เงินบาทอ่อนค่า ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้ภาคเอกชนแข็งแกร่งคือการเน้นเสถียรภาพทางด้านราคา การดูแลให้สถาบันการเงินจัดหาแหล่งเงินทุนให้เอกชนได้อย่างคล่องตัว อย่างไรก็ตามแม้ว่าธปท.ควรใช้กรอบเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงินแต่หนีไมพ้นที่ธปท.ต้องเข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการปรับตัวได้
สำหรับการรับมือกับการไหลเข้าออกของเงินทุนนั้นที่ผ่านมามีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อเป็นแก้มลิงไว้พักเงินทุนและชะลอผลกระทบจากการไหลเข้าออกขณะเดียวกันควรเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งภารเอกชนได้ทำข้อเสนอไปยังภาครัฐเพื่อขอยกเว้นภาษีการนำกำไรกลับเข้าประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังควรพิจารณา
ห่วงคิวอี 3 ก่อฟองสบู่รอบใหม่
นายธีระชัย ยังกล่าวว่า ในขณะนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาลุกลามระบบจากมาตรการQE3ที่เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์กู้เงินต่างประเทศเป็นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อยุโรปมีการแก้ปัญหาในอนาคตจะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาจนเกิดเป็นฟองสบู่ขึ้นมาได้อีก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เช่นผลิตภัณฑ์การออมของบริษัทลูกที่ขายผ่านสาขาธนาคารหากวันหนึ่งเกิดปัญหาเศรษฐกิจจนลูกค้าขาดทุนอาจเกิดผลกระทบมาที่ธนาคารพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ตามในอนาคตหากสถาบันการเงินมีปัญหาธปท.จะต้องปรึกษากระทรวงการคลังก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาหรืออาจมีปัญหาข่าวรั่วได้ทำให้การจัดการทำได้ยากดังนั้นธปท.โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินหรือกนส.ควรหารือกับกระทรวงการคลังทุก 6 เดือนเพื่อปรับตัวให้ทันกับความเสี่ยงเชิงระบบดังกล่าว
ทั้งนี้บทบาทของกนส.ควรเน้นการพัฒนาระบบให้มีความก้าวหน้า และมีการแข่งขันมากขึ้นจากเดิมที่เน้นการกำกับและมองหาจุดอ่อนของระบบอยู่เสมอ และส่งเสียงไปถึงสื่อและประชาชนรับทราบ
นายธีระชัย ยังกล่าวว่า ธนาคารของรัฐมีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของระบบแล้วแต่ที่ผ่านมามีจุดอ่อนที่ถูกรัฐแทรกแซงการให้สินเชื่อจนเกิดหนี้เสียและถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายประชานิยม ดังนั้นในอนาคตหากจะดูตัวเลขหนี้สาธารณะนอกจากจะดูตัวเลขที่กฎหมายกำหนดแล้วยังต้องดูตัวเลขจากสินเชื่อภาครัฐด้วยหากเป็นโครงการประชานิยมก็ต้องมีการคาดการณ์ความเสียหายใส่เข้ามาแล้วเปิดเผยตัวเลขให้ประชาชนรับรู้ด้วย
ที่ผ่านมาเรากลัวว่ากระทรวงการคลังจะแทรกแซงธปท. แต่งานบางอย่างของธปท.ที่เข้าไปแทรกแซงกระทรวงการคลังเช่นการเข้าไปแก้ปัญหาสภาพคล่องให้สถาบันการเงินที่สุดท้ายแล้วก็ต้องส่งบิลไปเก็บที่คลัง แม้ว่าขณะนี้มีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่หากระบบแบงก์ล้มไปก็หนีไม่พ้นที่ธปท.และคลังต้องดูแล
สุดท้ายสภาพแวดล้อมการทำงานในอนาคตของธปท.จะมีความตึงเครียดและยากลำบากมากขึ้นหากภาคการเมืองมีโจทย์ในการหาเสียงและดำเนินนโยบายประชานิยมมากขึ้น ดังนั้นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และอาศัยสาธารณะเป็นเกราะ โดยพยายามสื่อสารไปสู่สังคมหากเห็นสภาพแวดล้อมตึงเครียดและฟองสบู่ใหญ่ขึ้นต้องพูดนำสังคมไปก่อน
Tags : ขาดทุนงบธปท.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น